การสัมภาษณ์งาน ในมุมของผู้สัมภาษณ์

tips / 25 September 2011 / 162

เห็นมาเยอะแล้วกับคำแนะนำ และเทคนิคต่างๆเกี่ยวกับการสัมภาษณ์งานสำหรับผู้ที่กำลังมองหางานอยู่

วันนี้ผมมาเล่าให้ฟังในมุมของผู้สัมภาษณ์บ้าง

ผู้สัมภาษณ์หลายคนอาจไม่รู้ตัวถึงความสำคัญของตัวเองในการสัมภาษณ์

โดยเฉพาะปัจจุบันที่หัวหน้างานมีส่วนในการสัมภาษณ์งานมากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่จะให้ฝ่ายบุคคลจัดการตั้งแต่ลงประกาศหางาน จนOn-boarding ก่อนส่งเข้าแผนกให้หัวหน้างาน

ผมจะอธิบายเป็น 2 ส่วน คือ

  1. ความสำคัญของการสัมภาษณ์งานต่อบริษัท และต่อตัวผู้สัมภาษณ์ และ
  2. สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ควรทำ
สำหรับเรื่องความสำคัญของการสัมภาษณ์งานต่อบริษัท คนส่วนใหญ่จะเข้าใจแค่หาคนมาเติมในส่วนที่ขาด (คนลาออก) กับเติมในส่วนที่เพิ่ม (ธุรกิจขยายตัว)
 
แต่จริงๆแล้วการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสม ไม่ใช่สักแต่ว่าได้คนเป็นกระบวนการที่สำคัญมาก(ถึงมากที่สุด) และผู้บริหารสูงสุดขององค์กรควรให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของการสัมภาษณ์และกระบวนการรับพนักงานใหม่ทั้งหมด
 
เพราะว่าคุณภาพขององค์กร = คุณภาพของพนักงาน
 
ถ้าคนที่เข้ามาไม่ใช่คนที่เหมาะ ทั้งพนักงานใหม่ และบริษัทก็จะเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเสียเวลา ทรัพยากรต่างที่ลงทุนไป เสียขวัญของพนักงานปัจจุบัน และสุดท้ายก็ส่งผลถึงผลงานของบริษัทในที่สุด
 
สำหรับผู้สัมภาษณ์ ถามว่าจะได้อะไรจากการเสียเวลามาสัมภาษณ์?
 
นอกจากจะได้คนเพิ่มในองค์กร หรือแผนกตัวเองแล้ว  ผมมองว่าการสัมภาษณ์ทำให้เราได้…
  1. ทักษะในการอ่านคน จากคำถาม และเวลาที่มีจำกัด ซึ่งยิ่งมีประสบการณ์สัมภาษณ์มากขึ้น เราจะยิ่งเข้าใจสิ่งที่แฝงอยู่ในคำพูด หรือท่าทางที่อาจขัดแย้งกับสิ่งที่พูด
  2. เข้าใจคุณค่า(value) หรือสิ่งที่บริษัทมองหาในตัวพนักงานมากขึ้น เนื่องจากเราเป็นคนถือเกณฑ์ เราจะเข้าใจมากขึ้นว่าสิ่งที่บริษัทมองหาคืออะไร ซึ่งสามารถใช้ในการประเมินตัวเองได้ด้วยว่าเราใกล้เคียงมากน้อยแค่ไหน
  3. เข้าถึงเด็กรุ่นใหม่ๆมากขึ้น(in-touch with new generation) แม้ว่าเราอาจคิดว่าจบมาไม่นาน แต่ถ้าได้สัมภาษณ์เด็กที่เพิ่งจบมาตอนนี้จะเห็นถึงความแตกต่างของการใช้ชีวิตจากตัวอย่างที่ยกมา ซึ่งเราต้องทำงานกับเค้าด้วยในอนาคต การเข้าใจวิธีการคิด จะช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น
สำหรับสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ควรทำจากประสบการณ์ส่วนตัว…
  • อ่านข้อมูลของผู้มาสัมภาษณ์ก่อนสัมภาษณ์
  • ให้เกียรติผู้มาสัมภาษณ์ (มาตรงเวลา, ไม่พูดจาดูถูก, ไม่ใส่ใจคำตอบ, รับโทรศัพท์, ตอบอีเมล, ดูนาฬิกา เป็นต้น)
  • ทำให้ผู้มาสัมภาษณ์คลายความเครียดในช่วงแรกก่อนเริ่มสัมภาษณ์
  • ไม่ถามคำถามชี้นำ เพราะผู้มาสัมภาษณ์จะเดาได้ว่าเราอยากได้คำตอบแบบไหน
  • พูดให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
  • ไม่แสดงความเห็นทั้งทางบวก หรือลบต่อคำตอบของผู้มาสัมภาษณ์
  • นำเสนอบริษัทตัวเอง แต่ไม่ใช่ชมเว่อร์
  • ขอบคุณผู้มาสัมภาษณ์ที่สนใจบริษัทและสละเวลามาสัมภาษณ์
อย่าลืมว่าคุณเป็นเสมือนหน้าตาของบริษัทที่ผู้มาสัมภาษณ์ติดต่อด้วย ทุกอย่างที่คุณทำจะถูกตีความว่าเป็นสิ่งที่พนักงานของบริษัททำ, ยอมรับได้, หรือเป็นวัฒนธรรมองค์กร
 
ใช้โอกาสนี้ให้ดีทึ่สุดเพื่อตัวคุณ และองค์กรของคุณ
 
อย่ายอมให้เรารับคนผิดเพราะแรงกดดันที่ต้องหาคนให้ได้ในเวลาที่จำกัด
 
ผมยืนยันว่าขาดคนดีกว่ารับคนผิดแน่นอน
 
โชคดีในการสัมภาษณ์ครับ

________________________________________________________________________________ ถ้าชอบบทความนี้ คุณอาจจะสนใจ Monday’s Spark with Chutchapol.com ซึ่งผมคัดไอเดียเจ๋งๆ คำถามสั้นๆ ที่จะช่วยกระตุ้นพลังในการทำงานทุกเช้าวันจันทร์

Click Here to Subscribe