[คุยแบบชัชๆ] #005: Magali Simon

Interview / 19 February 2016 / 236

interview cover pic_005

คนเก่งหรือ Talents เป็นทรัพยากรสำคัญที่ทุกองค์กรพยายามสร้างและรักษาไว้ แต่คุณรู้หรือไม่ว่านิยาม Talents และคุณสมบัติที่องค์กรข้ามชาติใหญ่ ๆ มองหาคืออะไร เพื่อที่คุณจะได้ปรับไปพัฒนาตัวเองต่อได้

วันนี้ผมได้รับเกียรติ [คุยแบบชัชๆ] คุณ Magali Simon ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท BASF บริษัทผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำของโลก ปัจจุบันคุณ Magali ดำรงตำแหน่ง Vice President Talent Development, Learning and perspectives รับผิดชอบการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะ และศักยภาพพนักงานของบริษัทจำนวนกว่า 17,000 คน ในเอเชียแปซิฟิก

บทสัมภาษณ์นี้ ผมแปลจากภาษาอังกฤษเพราะไม่อยากให้คนไทยที่อาจไม่ถนัดภาษาอังกฤษพลาดโอกาสสัมผัสมุมมองจากผู้บริหารต่างชาติ ถ้าอ่านแล้วสะดุด สำนวนไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร ผมก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ (มือใหม่หัดแปล)

_____________________________________________________________________________

สิ่งที่คุณจะได้เรียนรู้

  • วัฒนธรรมการโค้ชกับโลกธุรกิจ
  • นิยามของ Talents ในมุมมองขององค์กรข้ามชาติ
  • สิ่งที่มองหาในตัว Talents
  • เทคนิคการพูดให้คนอื่นฟังในองค์กรขนาดใหญ่
  • การรักษาทัศนคติบวกเวลาประสบปัญหาหรืออุปสรรค
  • 1 อย่างที่แนะนำให้คนเอเชียรุ่นใหม่ที่ทำงานในองค์กรข้ามชาติ

_____________________________________________________________________________

ช่วยแนะนำตัวเองสั้น ๆ และเส้นทางในการทำงาน (career path) ที่ผ่านมาหน่อยครับ

ฉันชื่อ Magali เกิดและโตในแคว้นเบรอตาญ (ฝรั่งเศส: Bretagne) หรือที่รู้จักกันในนาม บริตทานี (อังกฤษ: Brittany) ประเทศฝรั่งเศส ตอนเด็ก ๆ จำได้ว่ามีความสุขมาก ฉันชอบสงสัย และสำรวจสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งตอนเด็ก ๆ ก็ได้แค่สำรวจเพื่อนบ้านรอบ ๆ พอโตขึ้นก็มีโอกาสเริ่มสำรวจไกลขึ้น มีโอกาสได้ฝึกงาน และเรียนที่ประเทศเยอรมันนี และได้ร่วมงานกับบริษัท BASF หลังจากจบปริญญาโทจากฝรั่งเศส และเยอรมันในสาขาการบริหารธุรกิจ

งานแรกอยู่ในแผนกจัดซื้อทั้งที่ตอนนั้นไม่ได้สนใจแผนกนี้เป็นพิเศษ สาเหตุที่ตัดสินใจทำงานนี้คือตอนได้สัมภาษณ์กับ Senior Vice President ซึ่งเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์เห็นภาพของแผนกในอีก 5 ปีข้างหน้า ฉันชอบ passion ของเขามาก และอยากทำงานกับผู้นำที่ inspiring

งานนี้ทำให้ฉันได้มีโอกาสมาทำงานในเอเชีย และทำอยู่ในแผนกจัดซื้ออยู่ 4 ปี ฉันก็ย้ายมาในส่วนธุรกิจเป็น Business Leader ที่ถือว่าท้าทายมากเพราะต้องมานำทีมของผู้เชี่ยวชาญ ในขณะที่ตัวเองยังไม่เข้าใจสินค้า เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมอย่างลึกซึ้ง

ช่วงเวลานั้นฉันอยากจะพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ และเปิดรับมุมมองใหม่ ๆ เลยตัดสินใจสมัครหลักสูตรการโค้ชจากข้างนอก เพื่อที่จะได้รู้จักคนใหม่ ๆ ฉันชอบทักษะการโค้ชมากจนตัดสินใจที่จะเป็น certified coach ด้วยตัวเอง และนำมุมมองการโค้ชกลับมาที่บริษัท

เป็นสาเหตุที่ฉันได้ย้ายมาแผนก HR ต้นปีที่แล้ว เพื่อเปิดตัวโครงการสร้างโค้ชในบริษัท โครงการนี้ได้รับความสำเร็จอย่างสูง และฉันได้รับการเลื่อนตำแหน่งมารับผิดชอบส่วนของ Learning, Development และ perspectives ในเอเชียแปซิฟิก

 

อะไรเป็นสาเหตุที่ตัดสินใจย้ายจากฝั่งธุรกิจมา HR ครับ?

ตอนที่เริ่มทำงานใหม่ ๆ ฉันเคยพูดว่า ฉันไม่อยากทำงานในแผนก HR (หัวเราะ) สิ่งที่ทำให้ฉันไปคุยกับ Head of HR คือความเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนองค์กรให้ดีขึ้นได้ด้วยการให้หลักการของการโค้ช โดยไม่ได้นึกว่าการที่จะทำโครงการนี้ ฉันต้องย้ายมา HR (หัวเราะ) การได้เรียนรู้ทักษะการโค้ชช่วยให้ฉันรู้มั่นใจในการนำทีม และเชื่อว่าทักษะนี้จะเป็นประโยชน์กับคนอื่น และองค์กรจึงตกลงที่จะย้ายมา HR

ดูเหมือนเส้นทาง career จะพัฒนาโดยไม่ได้วางแผนไว้?

ใช่ค่ะ และนี่เป็นหนึ่งเรื่องที่อยากแนะนำคนรุ่นใหม่ คือ ทำตามหัวใจ (Follow your heart) ทำในสิ่งที่คุณรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ถูก แม้บางครั้งอาจดูเหมือนจะไม่ก้าวหน้าในระยะสั้น

ยกตัวเองเป็นตัวอย่าง ตอนที่ฉันอยู่ในฝั่งธุรกิจ ฉันมีทีม 60 คน ประจำประเทศต่าง ๆ ในเอเชียแปซิฟิก ฉันมีออฟฟิศ มีเลขาของตัวเอง แต่พอย้ายมา HR ฉันทำงานในออฟฟิศรวม ไม่มีทีม แต่ตัวเองเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ถูก แม้หลายคนอาจมองว่าการตัดสินใจแบบนี้ความเสี่ยง แต่ฉันไม่ได้มองอย่างนั้น เพียงไม่กี่เดือนหลังจากย้ายมา HR ฉันก็ได้เลื่อนตำแหน่ง และได้โอกาสรับผิดชอบ Learning Campus ที่สวยงามนี้ 

ทำตามสิ่งที่คุณเชื่อว่าถูก และเชื่อว่าคุณจะได้รับสิ่งที่ถูกตามมา

แล้วทราบได้อย่างไรว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ใช่สำหรับคุณครับ?

ในกรณีของฉันตอนที่ตัดสินใจย้ายมา HR ตอนที่ฉันเข้ากลุ่มเรื่องการโค้ช หรือเดินเข้าห้องอบรม ฉันรู้สึกเหมือนอยู่ที่บ้าน บรรยากาศในการทำงานในบริษัทหลายครั้งที่จะมีการแข่งขันกันสูง หลายคนพยายามโชว์ว่าฉันเก่ง มีความสามารถ เพื่อพิสูจน์ตัวเองกับองค์กรและเพื่อนร่วมงาน

เทียบกับเวลาที่เข้าเรียนเรื่องการโค้ช ฉันรู้สึกถึงความร่วมมือ และความอบอุ่นในนั้น ฉันรู้สึกได้ว่านี่คือตัวตนที่แท้จริงของฉัน และรู้สึกเป็นธรรมชาติ ซึ่งความรู้สึกนี้บอกว่านี่คือสิ่งที่ใช่สำหรับฉัน

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับตอนที่ฉันกำลังลงเรียนเพื่อจะเป็นโค้ช คือ ฉันได้รับเสนอตำแหน่งงานใหม่ ควบคู่ไปกับการเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งเป็นงานที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น ในอีกภูมิภาคหนึ่ง ซึ่งฉันมีเวลาเพียงสามวันในการตัดสินใจ

ช่วงนั้นฉันแทบไม่ได้นอน เพราะกังวลมาก ว่าจะรับหรือปฏิเสธข้อเสนอนี้ดี แต่ในใจฉันรู้ว่าไม่สามารถตอบตกลงได้ สุดท้ายจึงปฏิเสธงานนั้นไป ตอนที่โทรไปบอก President ก็กลัวมาก แต่พอปฏิเสธเสร็จกลับรู้สึกดีขึ้นอย่างบอกไม่ถูก รู้เลยว่านี่คือการตัดสินใจที่ถูก บางครั้งคุณต้องเชื่อเสียงภายในตัวคุณ แม้อาจจะฟังดูไม่มีเหตุผลก็ตาม

วัฒนธรรมการโค้ชเหมาะกับโลกธุรกิจอย่างไร?

ฉันคิดว่าสิ่งที่ท้าทายผู้นำทุกคน คือ การหาสมดุลระหว่างผลลัพธ์ของงาน กับ ความสัมพันธ์ของคน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง หรือหัวหน้างานเป็นครั้งแรก คุณก็จะเจอความท้าทายนี้เหมือนกัน

สิ่งที่ฉันสังเกตในโลกของธุรกิจ คือ เรามุ่งสนใจเรื่องของงาน การแก้ปัญหา และผลลัพธ์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผิด บริษัทเราไม่ใช่องค์กรการกุศล ถ้าเราไม่สามารถสร้างผลงาน เราก็จะไม่มีงาน

แต่ในขณะเดียวกัน ฉันเชื่อว่าถ้าเราดึงด้านที่เป็นอ่อนโยนของมนุษย์ออกมา ใส่ใจเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น เราจะสามารถสร้างผลงานได้ง่ายขึ้น แน่นอนว่าเราต้องหาจุดสมดุลของทั้งสองด้าน และนี่คือสิ่งที่ฉันเชื่อว่าจะสร้างความแตกต่างให้กับองค์กรได้  

คุณจะเปลี่ยนมุมมองของผู้บริหารบางคนที่มองว่าการอบรมเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น หรือเป็นการให้รางวัลพนักงานอย่างไร?

ส่วนตัวฉันไม่ได้มองเรื่องการอบรมเช่นนั้น ฉันคิดเสมอว่าการอบรมหัวข้อไหนที่เหมาะกับตัวเอง และเชื่อว่าฉันสามารถเรียนรู้บางอย่างจะการอบรม ซึ่งจะช่วยให้ฉันพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น  

ในฐานะที่รับผิดชอบ Talents ขององค์กร คุณนิยาม Talents ว่าอย่างไร?

ใน BASF เราเชื่อว่าทุกคนมี Talent ในโลกของการโค้ช เราเรียกต่างกันนิดหน่อย เราเชื่อว่าทุกคนมีคุณค่า (resourceful) สร้างสรรค์ (creative) และเป็นคนที่เต็มสมบูรณ์ (whole person) ยกตัวอย่าง ชัช ไม่ใช่เป็นแค่พนักงาน แต่ยังเป็นสามี เป็นนักวิ่งมาราธอน เป็นต้น เวลาที่คนเจอกับพนักงาน บางครั้งเรามองแคบไปแค่มุมมองเดียว ผู้นำที่ดีต้องใส่ใจในสิ่งที่พนักงานให้ความสำคัญ และต้องรู้จักในฐานะของตัวบุคคลมากไปกว่าเพียงตำแหน่งงานและหน้าที่ในองค์กร

สำหรับฉัน Talent คือการดึงจุดแข็งในมุมต่าง ๆ ที่บางครั้งเราไม่รู้ ซึ่งสามารถช่วยองค์กรได้ดีขึ้น ฉันเชื่อว่า Talent อยู่ในตัวทุกคน

ถ้าถามว่าฉันเชื่อว่ามีที่สำหรับทุกคนใน BASF มั้ย? ฉันบอกว่า ไม่เสมอไป เพราะเราต้องให้แน่ใจว่าเราให้คนที่เหมาะสมอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม (right people in the right place)

พนักงานต้องวิเคราะห์ตัวเองว่า คุณค่าที่แท้จริงของฉันคือะไร? ฉันสามารถใช้ความสามารถสนับสนุนส่วนไหนขององค์กรได้? ซึ่งจะนำมาสู่คำถามต่อมาคือ สภาพแวดล้อมแบบนี้จะช่วยให้ฉันเติบโตมั้ย? ฉันทำงานในที่ที่ใช่หรือเปล่า? คำถามเหล่านี้ไม่ง่ายที่จะตอบ หน้าที่ของเราคือหาที่หรือตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดที่พนักงานสามารถสนับสนุนองค์กรได้

มีวิธีหา Talents อย่างไรในเมื่อทุกคนก็มี Talent ในตัวเอง?

ถ้าเราพูดถึง Talents ใน BASF เราหมายถึงคนที่สามารถรับผิดชอบตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทในระดับภูมิภาค สิ่งที่ฉันมองหาคือหลักฐานของศักยภาพ (evidences of potential)

หนึ่งในนั้นคือความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ (the eagerness to learn) ยกตัวอย่างเช่น การที่พนักงานกระตือรือร้นที่จะของ feedback และนำมาพัฒนาตัวเอง

นอกจากความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ความยืดหยุ่นในการทำงานก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ คนที่มีศักยภาพจะสามารถมองการทำงานให้บรรลุเป้าหมายเดียวกันได้หลายทาง ความคิดสร้างสรรค์ที่จะผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย และได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าคือสิ่งที่ฉันมองหาใน Talents ทัศนคติและมุมมองความคิดเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะความรู้ และความชำนาญสามารถฝึกและพัฒนาได้ง่ายกว่า 

มีเทคนิคอย่างไรเพื่อให้คนอื่นฟังสิ่งที่เราพูดในองค์กรขนาดใหญ่?

คุณต้องสร้างความสัมพันธ์ก่อน เมื่อถึงเวลาที่คุณต้องการนำเสนอ ผลักดันไอเดียของคุณ และคุณต้องการให้คน ๆ นั้นช่วย คนนั้นจะมีโอกาสฟังและช่วยคุณมากขึ้น คุณไม่ควรสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น แล้วคาดหวังให้คนอื่นช่วยเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง คุณควรสร้างความสัมพันธ์เพราะคุณสนใจ และใส่ใจคนรอบตัวจริง ๆ

เมื่อคนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในองค์กร คุณจะหาวิธีในการทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ และซับซ้อน (matrix organization) ได้ด้วยการถาม ขอความช่วยเหลือ ในฐานะผู้นำ คุณไม่จำเป็นต้องสร้างทุกอย่างด้วยตัวเอง บางคนอาจมองว่าผู้นำที่ถาม หรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่นคือคนที่อ่อนแอ แต่ความจริงการถามคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของผู้นำ คุณสามารถถาม ขอความช่วยเหลือได้ทั้งจากทีมของคุณ เพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้าของคุณ

เวลาเจอปัญหา หรืออุปสรรคในการทำงาน คุณรักษาทัศนคติบวกอย่างไร?

ฉันเป็นคนมองโลกในแง่ดีโดยธรรมชาติ ถ้าวันไหนที่เริ่มคิดในแง่ลบ แสดงว่าวันนั้นฉันเหนื่อย หรือมีแรงกดดันมากเกินไป ซึ่งเปรียบเป็นหนูถีบจักร ยิ่งงานเยอะ เราก็ยิ่งทำ แล้วก็เหนื่อย งานก็เข้ามาใหม่ ไม่เห็นทางออก เหมือนยากที่จะก้าวข้ามวงจักรออกมา แล้วทำให้บางครั้งฉันเสียมุมมองทางบวกไป

การก้าวออกมาจากวงจักร หรือความวุ่นวายของงานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับฉัน บางครั้งฉันจะใช้เวลาทำอย่างอื่น เช่น คุยกับเพื่อนร่วมงาน หรือติดต่อกับคนนอกองค์กร เพื่อเติมพลังให้กลับมาสดชื่นอีกครั้ง บางครั้งฉันก็จะวาดรูป ฉันเชื่อว่าการวาดรูปเป็นการกระตุ้นสมองซีกขวา เพราะเราใช้สมองซีกซ้ายเป็นส่วนใหญ่เวลาทำงาน ซึ่งจะช่วยให้ฉันเห็นมุมมองอีกด้าน

สรุปว่าสิ่งที่สำคัญคือการถอยออกมาจากวงจักรของความวุ่ยวายในการทำงาน และมองกลับเข้าไปในอีกมุมมองหนึ่ง

มีคำแนะนำในการเตือนตัวเองให้ถอยออกมาจากความวุ่นวายมั้ยครับ?

ส่วนตัวฉันเป็นคนที่ใจร้อน จนบางครั้งฉันมุ่งมั่นกับการทำงานจนไม่มีเวลาให้กับทีมงาน โชคดีฉันจะรู้สึกตัวได้ บางครั้งก็มีเพื่อนร่วมงานที่คอยสะกิดบอก เรื่องอย่างนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ แต่ฉันจะรู้สึกตัวได้ถ้าเอียงไปด้านไหนมากเกินไป   

กล่าวได้ว่าคุณใช้การตระหนักรู้อารมณ์ของตนเอง (self-awareness) ในการรักษาสมดุลในชีวิต (work/life balance)?

สำหรับฉัน คนที่อยู่รอบตัวจะสะท้อนระดับความเครียดของฉัน เวลาที่ฉันพูดตรง หรือแรงเกินไป ฉันจะสังเกตคนรอบตัวและปรับอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และนั่นเป็นสาเหตุที่ฉันเชื่อว่าในฐานะผู้นำคุณไม่สามารถหยุดเรียนรู้ได้ ยิ่งคุณเป็นผู้บริหารระดับสูงเท่าไหร่ คุณต้องเรียนรู้ ตระหนักและตั้งคำถามถึงอารมณ์ของตัวเอง

คุณมีโค้ชหรือ Mentor มั้ย?

แน่นอน ฉันมีโค้ชหลายคนในช่วงการทำงานที่ผ่านมา ซึ่งฉันเชื่อว่าการสะท้อน และพิจารณาตัวเอง (self-reflection) เป็นสิ่งที่ดีแน่นอน ฉันไม่แน่ใจว่ามีคนที่ฉันเรียกว่า Mentor ได้หรือไม่ แต่ฉันมีคนที่พร้อมจะให้คำปรึกษาเมื่อต้องการ

ตอนที่ฉันตัดสินใจเรื่องการปฏิเสธการเลื่อนตำแหน่งสองปีที่แล้ว ฉันปรึกษาน้องสาว ซึ่งมีชีวิตที่แตกต่างกับฉันอย่างสิ้นเชิง แล้วเธอก็ให้มุมมองที่แตกต่างที่ฉันต้องการ และทำให้ฉันคิดได้ 

จากประสบการณ์ทำงานในเอเชียกว่า 10 ปี ถ้าให้แนะนำ 1 อย่างให้ผู้นำรุ่นใหม่ในเอเชีย คุณจะแนะนำเรื่องอะไร?

ในภาพรวม ฉันอยากได้ยินเสียงของคนเอเชีย (Asian voice) ในการประชุมระดับโลกมากขึ้น เพราะเราทำงานในองค์กรตะวันตก เสียงที่เราได้ยินมักจะเป็นเสียงของคนตะวันตก

เรื่องนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่บริษัทของเรา ฉันเชื่อว่าเราสามารถเรียนรู้จากคนเอเชีย และได้ความคิดใหม่ ๆ ที่คนตะวันตกไม่มีเพราะไม่เข้าใจตลาดของคนเอเชียดีเท่า

ถ้าสามารถย้อนเวลากลับไปเจอตัวเองตอนที่เพิ่งเรียนจบ คุณอยากบอกอะไรกับตัวเอง? 

ที่ผ่านมาไม่มีอะไรที่ฉันทำแล้วเสียใจ (regret) ถ้าฉันสามารถกลับไป ฉันก็จะตัดสินใจเหมือนเดิม ถ้าฉันรู้สึกดี รู้สึกว่าอะไรเป็นสิ่งที่ใช่ ฉันก็จะทำสิ่งนั้น

ถ้ากลับไปเจอตัวเองตอนเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย ฉันคงบอกตัวเองว่า “หาแรงบันดาลใจ (Get inspired)” ถ้าคุณมีแรงบันดาลใจแสดงว่าคุณมาถูกทางแล้ว

________________________________________________________________________________

ถ้าชอบบทความนี้ คุณอาจจะสนใจ Monday’s Spark with Chutchapol.com ซึ่งผมคัดไอเดียเจ๋งๆ คำถามสั้นๆ ที่จะช่วยกระตุ้นพลังในการทำงานทุกเช้าวันจันทร์

Click Here to Subscribe