ดูงาน Social Enterprise ในสิงคโปร์

Reflection / 16 March 2014 / 303

credit: Comcrop Facebook Page

credit: Facebook Page

 

ว่ากันว่า คนที่ทำธุรกิจธรรมดาว่ายากแล้ว ทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ยิ่งยากใหญ่

เมื่อวานผมมีโอกาสได้ไปร่วมงาน Singapore Insights: Social Innovation and Enterprise จัดโดย Singapore International Foundation

ทำให้มีโอกาสได้ทั้งฟังเปิดโลกทัศน์ตัวเอง กับคนที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงสังคมในขอบเขตที่ทำได้

ได้ฟังตัวอย่างของ Social Enterprise อย่าง Yellow Ribbon Project กับ Joan Bowen Cafe 

แล้วนั่งรถไปดูงาน organic farm ของบริษัท Comcrop ต่อที่ตึก *Scape แถว Orchard

ปิดท้ายด้วยการไปร่วมงาน Young Social Entrepreneurs (YSE) programme reception ซึ่งมีการประกาศผล 10 ทีมที่ชนะและได้ไปต่อจาก 37 ทีม

ถือว่าเป็นวันที่ได้สนุกกับการเรียนรู้ และรู้จักคนที่น่าสนใจไปพร้อมกัน

เริ่มจาก Yellow Ribbon Project ซึ่งให้โอกาสที่สองกับผู้ต้องโทษในเรือนจำ ด้วยการสอนทักษะในการทำงาน และหาผู้จ้างงานที่เหมาะสม เพื่อกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้ง

ซึ่งมองในมุมสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆแล้ว ถือว่าเป็น win-win

เพราะในประเทศที่แข่งขันสูงอย่างนี้ ถ้าไม่มีคนให้โอกาส คนกลุ่มนี้เมื่อพ้นโทษก็แทบจะไม่มีทางที่จะทำงานในสังคมได้อีก

ในแง่ของตลาดแรงงาน สิงคโปร์ก็ยังขาดแคลน แรงงานโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมบริการอาหาร และเครื่องดื่ม (Food&Beverage) และอุตสาหกรรมโลจิสติก ซึ่งคนกลุ่มนี้สามารถฝึกและทำงานได้

สำหรับ Joan Bowen Cafe เป็นร้านอาหารที่ฝึกเด็กและเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษ ทำงานในร้านอาหารได้

จุดเริ่มต้นมาจาก Jeanne Seah-Khong กับ Khong Yoon Kay ผู้ก่อตั้ง Jone Bowen Cafe พบว่า Joan ลูกสาวเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งเข้าใจปัญหาและอุปสรรคของเด็กกลุ่มนี้ อยากให้โอกาส และทำงานในสังคมปกติได้

จึงได้เปิดร้านอาหารนี้ขึ้นมา ทั้งๆที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน

ซึ่งต้องออกแบบ และแบ่งขั้นตอนต่างๆในการทำอาหารและเก็บเงินใหม่ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ และฝึกเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ตอนบ่ายได้ไปเยี่ยม rooftop farm ของ Comcrop ซึ่งอยู่ที่ตึก *SCAPE

image_1

คุณ Allan Lim กำลังแนะนำ Comcrop

คุณ Allan Lim หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Comcrop ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจที่อยากให้คนสิงคโปร์ได้กินผักสดๆ organic แทนที่จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

นอกจากปัญหาเรื่องพื้นที่ที่มีจำกัด คุณ Allan ยังคิดว่าอยากให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม และโครงการอยู่ได้อย่างยั่งยืน (ทางการเงิน)

ซึ่งในแง่ของพี้นที่ แทนที่จะหาที่บนพื้นมาปลูก ก็หาพื้นที่บนดาดฟ้าตึก และปลูกผักในแนวตั้ง (vertical farming) เพื่อประหยัดพื้นที่

ส่วนวิธีที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม เริ่มตั้งแต่แทนจะชวนวัยรุ่นมาทำ farming ซึ่งดูงานหนัก ไม่เท่ บริษัท position ตัวเองว่าเป็น hitech urban farming

ทำให้วัยรุ่นสนใจ และรู้สึกว่า cool อยากมีส่วนร่วม

นอกจากนี้จะมีการจ้างงานจากผู้สูงอายุ และคนว่างงานที่สนใจ เพื่อสร้าง impact และการแลกเปลี่ยนความรู้กับวัยรุ่นที่เป็นอาสาสมัคร

สุดท้ายในแง่ของการตลาด บริษัทมีลูกค้าประจำที่เป็นโรงแรม และร้านอาหารที่ต้องการผักที่สด organic แถมช่วยสนับสนุนสังคม แม้ราคาจะแพงกว่าตลาดบ้าง

ที่มีโอกาสถามกับคุณ Allan นอกรอบ เห็นว่าบริษัทให้ความสำคัญกับการสร้างกำไร เป็นให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

ซึ่งปัจจุบัน ธุรกิจก็อยู่ได้อย่างมีกำไรแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีด้วย :)

image_2

Organic Vertical Farming

 

เสร็จจากการดูงานที่ Comcrop ผมก็ได้ร่วมงานเลี้ยงรับรองและประกาศผล Young Social Entrepreneurs (YSE) programme ที่ Suntec Convention Centre

ซึ่งทราบทีหลังว่าน้องที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 37 ทีมจาก 13 ประเทศ รวมถึง 2 ทีมจากประเทศไทย ได้มาเข้า workshop 3 วันที่สิงคโปร์และนำเสนอ Social Enterprise Project ของตัวเองกับคณะกรรมการ ก่อนจะคัดเหลือแค่ 10 ทีม ซึ่งประกาศผลในงานนี้

image_4

โฉมหน้าทีมที่ชนะทั้ง 10 ทีม ของ YSE

 

เป็นที่น่ายินดีที่หนึ่งในทีมที่ชนะทั้ง 10 ทีม คือทีม Local Alike จากประเทศไทย ซึ่งน้องนุ่น (คนซ้าย) กับน้องโบว์ (คนขวา) อธิบายว่าธุรกิจที่ทำเป็น community- based tourism booking platform คล้ายๆกับ Agoda สำหรับ home stay และการท่องเที่ยวในท้องถิ่น

ยินดีอีกครั้งกับทีม Local Alike นะครับ

image_5

เก่งมากครับ!

ข้อคิดที่ได้…

– Social Enterprise ส่วนใหญ่เริ่มมาจากการปัญหาเล็กที่อยากช่วยแก้ หรือทำให้ดีขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาที่ประสบด้วยตัวเอง หรือโอกาสที่เห็นที่จะช่วยสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งผู้ก่อตั้งจะมี passion และความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

– แต่หลายครั้งที่ปัญหาของ Social Enterprise คือ ไม่ได้มองเรื่องการเงิน ช่วงแรกอาจใช้เงินส่วนตัว หรือได้ทุนจากแหล่งต่างๆ แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อไป คือการหารายได้ในระยะยาวให้ธุรกิจดำเนินได้ด้วยตัวเอง

– ไม่ต่างกับ Tech Startup การได้ network กับคนที่คิด และมีความตั้งใจเหมือนกัน กับการได้คำแนะนำ จากผู้มีประสบการณ์ในวงการ และ Social Venture Capital จะช่วยให้ความคิดตกผลึก และขยาย impact ต่อสังคมได้มากขึ้น

– Social Enterprise ไม่จำกัดว่าต้องทำให้ชุมชน หรือประเทศที่เราอยู่เท่านั้น ดูจากทีม YSE พบว่ามีหลายทีมที่สนใจจะแก้ปัญหาของประเทศที่มีโอกาสน้อยกว่า 

Moving Forward

ถึงแม้ส่วนตัวจะไม่ได้อยู่ในวงการธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) แต่ก็มีความสนใจ เพราะเชื่อว่าการทำประโยชน์เพื่อสังคม อย่างยั่งยืนนั้นทำได้ แม้จะยากไปบ้าง

ถ้าผมสามารถช่วยในมุมของประสบการณ์ หรือ connection สำหรับ social enterprise ในไทยได้ก็ยินดีนะครับ