ถ้าใครที่อยู่ในองค์กรใหญ่ๆ คงสังเกตว่าช่วงหลังๆ เราอาจได้ยินผู้บริหาร หรือ HR เริ่มพูดถึงคำว่า Diversity หรือความหลากหลายมากขึ้น
บางองค์กรอาจไม่ใช่แค่ Diversity อย่างเดียว แต่จะมาชื่อยาวๆเป็น Diversity and Inclusion เลยทีเดียว
ความหลากหลายในองค์กร วัดอย่างไร?
ตอนเริ่มใหม่ๆ เมื่อหลายปีก่อน หลายองค์กรก็เริ่มจากตัววัดที่ง่ายที่สุดคือ เพศ และ เชื้อชาติ
ดูว่าสัดส่วนผู้หญิง : ผู้ชาย ในแต่ละประเทศ แต่ละระดับ ว่าเหมาะสม มากน้อยอย่างไร
จำนวนเปอร์เซนต์ของคนเอเชีย คนยุโรป หรือ คนอเมริกา ในระดับผู้บริหาร เป็นต้น
หลังๆเราเริ่มเห็นการวัดความหลากหลายที่ซับซ้อนขึ้น
จากเพศ ที่เดิมแบ่งเพียงชาย กับหญิง กลายเป็นการแบ่งจากรสนิยมทางเพศที่หลากหลาย
การแบ่งกลุ่มตามช่วงอายุ (Generation) ต่างๆ เป็นต้น
ถามว่าบริษัทวัดเรื่องพวกนี้ทำไม?
ก็เพราะองค์กรเชื่อว่า ความหลากหลายจะช่วยให้องค์กรพัฒนา กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างผลลัพธ์อย่างก้าวกระโดด (Breakthrough Result) และนำองค์กรสู่ความสำเร็จในที่สุด
แต่สิ่งที่ผมสังเกตคือ หลายองค์กรยังติดยึดกับเปลือกของตัววัด และการวัดความหลากหลาย มากจนเกินไป
บางองค์กรก็ปวดหัวกับเป้าความหลากหลายที่บริษัทแม่พยายามจะวัด ทั้งที่อาจไม่มีความหมายในระดับประเทศไทย
ตัวอย่างเช่น การวัดความหลากหลายทางเชื้อชาติของพนักงานในแต่ประเทศ ซึ่งประเทศในอเมริกา หรือยุโรป สามารถวิเคราะห์ไปต่อยอดได้
แต่สำหรับประเทศไทย หลับตาก็รู้ว่ามากกว่า 99% เป้นคนไทย ถ้าจะมาแยกเป็นไทย-จีน หรือ ไทย-ไทย ก็ยิ่งใช้เวลา และไม่เห็นประโยชน์ในการวิเคราะห์หรือนำไปใช้ต่ออีก
ผมเชื่อว่าจุดมุ่งหมายของโครงการ Diversity and Inclusion ควรเน้นที่การยอมรับความหลากหลายในทุกด้าน รวมถึงด้านความคิดของพนักงาน
ลดอคติ พร้อมเปิดรับความต่าง เพื่อดึงเอาความคิดที่ดีที่สุดมาแก้ปัญหา และพัฒนาองค์กร
ลองคิดดู จะดีแค่ไหน…
ถ้าผู้นำในองค์กร ยอมรับความต่างของผู้อื่น ไม่รับ/เลื่อนตำแหน่งเฉพาะคนที่คิดเหมือนกัน หรือติดอยู่ใน “Someone like me” Mindset
ถ้าในการรับสมัครงานจะไม่ถาม หรือพิจารณาจากปัจจัยอื่น นอกเหนือจากความสามารถที่เกี่ยวข้องกับงาน
ถ้าทุกคนในองค์กร ยอมรับ และเคารพในความต่างของเพื่อนร่วมงาน
สุดท้าย ถ้าองค์กรของคุณยังไม่มีใครพูดถึงเรื่อง Diversity ก็ไม่ต้องน้อยใจว่าจะไม่อิน เริ่มง่ายๆที่ตัวคุณเอง
เริ่มเปิดใจรับความหลากหลายของเพื่อนร่วมงาน ทั้งทางกายภาพ วิธีการทำงาน และความคิด
คิดต่าง ไม่ได้แปลว่าเค้าผิดเสมอไป
ลองดูนะครับ
________________________________________________________________________________
ถ้าชอบบทความนี้ คุณอาจจะสนใจ Monday’s Spark with Chutchapol.com ซึ่งผมคัดไอเดียเจ๋งๆ คำถามสั้นๆ ที่จะช่วยกระตุ้นพลังในการทำงานทุกเช้าวันจันทร์