การบริหารภายใต้ข้อจำกัด กับ แทนแกรม (Tangrams)

Reflection / 27 September 2012 / 1294

ไปฟังสัมมนาวันก่อนหัวข้อ THINK Forum: A New Brand of Leadership for a New Kind of Economy จัดโดย IBM ร่วมกับ กรุงเทพธุรกิจ

มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือการบริหารภายใต้ข้อจำกัด โดย ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์

ผมฟังแล้วคิดว่าน่าจะมาเล่าสู่กันฟัง

ถ้าสังเกตจะเห็นว่าโลกที่เราอยู่มีแนวโน้มที่จะวิ่งความต้องการที่ไม่น่าจะเป็นไปได้มากขึ้น

คนส่วนใหญ่จะเคยชินกับการต้องเลือก เอาอย่างใด อย่างหนึ่ง

เช่น อยากได้ต้นทุนถูกก็ต้องผลิตครั้งๆมากๆ (ราคา หรือ ความหลากหลาย)

อยากได้ของดีๆก็ต้องคอยหน่อย (คุณภาพ หรือ เวลา)

หรือ งานเพิ่มก็ต้องขอคนเพิ่ม (งาน หรือ จำนวนคน) เป็นต้น

แต่ปัจจุบัน เราจะได้สัมผัสความต้องการที่เหมือนจะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว หรือขอในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้

จะเอาของหลายแบบให้ลูกค้าเลือก แต่ราคาต้องถูกลง (ราคา และ ความหลากหลาย)

เร่งเอางานเร็วขึ้นกว่ากำหนดที่ตกลง แต่งานต้องเนี้ยบเหมือนเดิม (คุณภาพ และ เวลา)

งานเพิ่มขึ้น คนลาออก แต่ไม่รับแทน (งาน และ จำนวนคน)

ถ้าเรามองในกรอบเล็กๆที่เราอยู่ อาจจะรู้สึกว่า บริษัทเอาเปรียบเราจัง บริษัทอื่นคงไม่มีที่ไหนโหดไปกว่านี้อีกแล้ว

ถ้าเขยิบถอยมาดูหน่อย จะพบว่าเพื่อนๆในบริษัทอื่น หรือแวดวงอื่นอยู่อยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกันมาก

และถ้าขยับถอยมาไกลอีกหน่อย จะเห็นว่าทั้งโลกกำลังประสบเหตุการณ์นี้เหมือนกันหมด จะมากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับกลุ่มธุรกิจ

แปลว่าอะไร?

แปลว่า #โลกนี้ชักอยู่ยากขึ้นทุกวัน รึปล่าว?

ผมชอบคำที่ ดร.สุวิทย์ เปรียบเทียบว่าส่วนใหญ่เรามองปัญหาเหมือนการต่อจิ๊กซอ พยายามที่จะชิ้นส่วนที่หายไป

ถ้าชิ้นส่วนไม่ครบเราก็จะต่อรูปที่ต้องการไม่ได้ (ชิ้นส่วนครบ หรือ ภาพสมบูรณ์)

ในขณะที่การแก้ปัญหาปัจจุบันเหมือนการต่อ แทนแกรม (Tangrams) ตัวต่อที่มีจำกัดอยู่แค่ 7 ชิ้น

แต่กลับต่อเป็นรูปต่างๆได้มากมาย

เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาหรือบริหารภายใต้โจทย์ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด

ไม่ว่าจะเป็นคนจำกัด

ความรู้จำกัด

เวลาจำกัด

หรืองบจำกัด

ให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ

แน่นอนว่ามันไม่ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่หรือ?

…..

สำหรับผมตัวอย่างเรื่องตัวต่อจิ๊กซอ กับ ตัวต่อ แทนแกรม ทำให้เกิด paradigm shift ในการมองปัญหาและการบริหารงานภายใต้ข้อจำกัด

คุณล่ะ? มองข้อจำกัดยังไง?