3 ปัจจัยลดความเสี่ยงภาวะหมดไฟในการทำงาน

From all around / 9 May 2020 / 13

ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome เป็นภาวะที่คนทำงานไม่อยากเจอ และมีความต่างจากความเครียดซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำงาน

ภาวะหมดไฟนี้มักเกิดจากความเครียดสะสม จนเกิดเป็นความล้าทางอารมณ์ รู้สึกเหมือนหนูติดจั่น ไม่มีไฟที่จะทำงานต่อ ซึ่งการนอนพักก็ไม่ช่วยให้ดีขึ้นเหมือนการเครียดหรือเหนื่อยจากงานทั่วไป

แล้วถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีอาการหมดไฟควรทำอย่างไร?

นอกจากคำแนะนำที่ให้ระวัง หมั่นสังเกตตัวเองอย่าให้ความเครียดสะสมอยู่เป็นเวลานานจนกลายเป็นภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือพยายามสร้างสมดุลระหว่างงาน กับชีวิต (work-life balance)

ผมได้ฟัง Adam Grant พูดถึงโมเดลหนึ่งใน podcast รู้สึกน่าสนใจ ผมเลยหาข้อมูลเพิ่มเติมฝาก

3 ปัจจัยที่จะช่วยลดโอกาสภาวะหมดไฟได้ คือ

Demand – Control – Support

เห็น 3 คำคล้าย Control-Alt-Delete แต่นี่เป็นโมเดลจริงๆ (The Demand-Control-Support Model) ของ R. Karasek และคณะ ตั้งแต่ช่วงปี 1980 เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพจิต และโรคหลอดเลือดหัวใจ ของคนงาน

มาดูกันว่าแต่ละปัจจัยมีรายละเอียดอะไรบ้าง

Demand

ปัจจัยแรกคือความต้องการของงาน งานที่มี demand สูงๆ จากตัวงาน จากหัวหน้า หรือแม้แต่ตัวเอง มีโอกาสที่จะสร้างความเครียดสะสมจนกลายเป็นภาวะหมดไฟได้

สิ่งที่ควรสังเกต

  • เราเข้าใจถึงความต้องการของงานจากองค์กร หรือหัวหน้างานหรือไม่
  • Demand ที่สูงของงานเป็นลักษณะชั่วคราว หรือสูงต่อเนื่อง
  • ถ้าลักษณะงาน Demanding มาก เราโอเคหรือสนุกกับมันหรือไม่
  • ถ้า Demand ของงานมากกว่าที่เราคาดหวัง หรือความสามารถของเรา ลองคุยกับหัวหน้าเพื่อหาทางออกร่วมกัน

Control

ปัจจัยที่สอง คือความสามารถในการควบคุมของเรา ยิ่งงานเปิดโอกาสให้เราควบคุม หรือเลือกวิธีการทำงานได้น้อย เราก็จะเครียด และเกิดภาวะหมดไฟได้ง่ายขึ้น

สิ่งที่ควรสังเกต

  • เราสามารถควบคุมงาน หรือวิธีการทำงานของเราได้มากน้อยแค่ไหน
  • ถ้าดูเหมือนเราไม่สามารถควบคุมงานที่เราทำได้ ให้เริ่มจากการมองจากส่วน หรือขั้นตอนเล็กๆ ว่าเราสามารถเลือกทำอะไรได้บ้าง
  • ถ้าหาไม่เจอเลย ลองมองหาสิ่งที่นอกเหนือจากงานที่เราควบคุมได้ เช่น ฉันเลือกที่จะยิ้มให้กับทุกคนที่ฉันคุยด้วย
  • แนะนำให้คุยกับหัวหน้างาน เพื่อหาทางออกในการเพิ่มโอกาสในการเลือก และควบคุมวิธีการทำงานของตัวเอง

Support

ปัจจัยสุดท้ายคือ การสนับสนุนจากองค์กร หัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงาน ถ้าทำทุ่มเททำงาน แต่ไม่มีใคร support มองไปทางไหนก็มืดแปดด้าน เหมือนอยู่ตัวคนเดียว ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟ

สิ่งที่ควรสังเกต

  • คุณรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนที่จำเป็นในการทำงานหรือไม่
  • คุณมีทีมงาน หรือหัวหน้าที่พร้อมให้ความช่วยเหลือเวลาประสบปัญหาหรือไม่
  • ถ้าไม่ มีวิธีไหนที่หัวหน้า หรือองค์กรจะสามารถให้การสนับสนุนที่จำเป็นกับการทำงานได้บ้าง

เมื่อไหร่ที่พบว่า งานของคุณมี Demand สูง Control ต่ำ แถม Support ต่ำ อีกให้ระวังสังเกตพฤติกรรม หรืออารมณ์ตัวเอง ว่าอยู่ในภาวะหมดไฟหรือไม่ และหาวิธีที่จะปรับปัจจัยทั้ง 3 เพื่อลดโอกาสภาวะหมดไฟในการทำงาน

ถ้าคุณได้พยายามปรับปัจจัยทั้ง 3 อย่างนี้ในงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถปรับได้ การพิจารณางานอื่น หรือองค์กรอื่นก็อาจเป็นตัวช่วยให้คุณมีไฟทำงานขึ้นมาอีกครั้ง