หมดไฟ ไม่รู้เป็นอะไร…

From all around / 24 May 2012 / 1039

© Tetra Images/Corbis

“เบื่อโว้ยยยย…”

“ไม่ไหวแล้วววว ทำงานจนเลิกกับแฟน แล้วก็ไม่มีเวลาไปหาใหม่เลย T_T”

“อยากทำอะไรก็ไม่รู้ รู้แต่ขี้เกียจ”

นี่เป็นตัวอย่างที่ผมเคยเห็นผ่านตา หรือได้ยินคนรู้จักบ่นลอยๆ ใน Social Network ต่างๆ

ผมเชื่อว่า เรื่องเหล่านี้หลายคนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ และเริ่มเคยชินกับความเครียด ความท้อ จนหลายคนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจนเจ้าตัวเองก็ไม่ทันสังเกต

แน่นอนว่าตลอดช่วงชีวิตในการทำงาน เราย่อมมีโอกาสที่จะสัมผัสทั้งความสนุก ความเครียด ท้อ หรือ หมดไฟกันบ้าง

แต่ที่สำคัญคือรู้ว่าตอนนี้เราอาการน่าเป็นห่วงแล้วหรือยัง

วันก่อนผมไปอ่านบทความเรื่องวงจรของการ Burnout (ผมแปลเองว่าหมดไฟ) ของคุณ Herbert Freudenberger ซึ่งแบ่งออกเป็น 12 ระยะ อาจจะเกิดพร้อมกันหรือข้ามบางระยะไปเลยก็ได้

ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจสำหรับคนวัยทำงาน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในเมืองและมีความเครียดสูง ไว้ใช้สังเกตตัวเองหรือคนรอบตัวได้นะครับ

ลักษณะของคนที่จะเข้าข่ายวงจรหมดไฟนี้สังเกตง่ายๆอยู่ 2 ข้อ

  • มีความทะเยอทะยาน คาดหวังกับตัวเองสูง
  • ต้องการความสมบูรณ์แบบ (perfectionist)
อ่านแล้วคุ้นๆกับตัวเองหรือคนใกล้ตัวมั้ยครับ? :D
ถ้าใช่หรือใกล้เคียง เรามาดูกันต่อว่าทั้ง 12 ระยะ มีอะไรกันบ้าง
.

ระยะที่ 1: ต้องการจะพิสูจน์ตัวเอง (A compulsion to prove oneself)

ระยะนี้มักจะเริ่มจากความทะเยอทะยานอันแรงกล้า เพื่อที่จะพิสูจน์ผลงานตัวเองกับคนอื่น ซึ่งก็ค่อนข้างจะปกติสำหรับหนุ่ม-สาวไฟแรงทั้งหลาย

 

ระยะที่ 2: ทำงานหนักขึ้น (Working Harder)

เพื่อให้ได้กับความคาดหวังที่สูงของตัวเอง ก็เริ่มทำงานหนักขึ้น ไม่กล้าปล่อยให้คนทำ เพราะกลัวงานออกมาไม่ดี และถูกหาว่าไม่รับผิดชอบ

 

ระยะที่ 3: ละเลยความต้องการของตัวเอง (Neglecting their needs)

เข้าระยะที่ 3 คนกลุ่มนี้จะไม่มีเวลาให้เรื่องที่(ตัวเองคิดว่า)ไม่สำคัญอื่นๆ เช่น กิน, นอน, เที่ยวกับเพื่อนหรือครอบครัว

 

ระยะที่ 4: รู้สึกขัดแย้ง แปลกแยก (Displacement of conflict)

มาระยะนี้ เจ้าตัวจะเริ่มรู้สึกว่าบางอย่างมันไม่ถูกแต่ไม่รู้ว่าเพราะอะไร หรืออะไรเป็นต้นเหตุของปัญหานั้น ซึ่งส่วนใหญ่อาการที่จะแสดงออกภายนอกจะเริ่มสังเกตได้ในระยะนี้

 

ระยะที่ 5: ปรับระบบความเชื่อ (Revision of values)

เริ่มเก็บตัว หลีกเลี่ยงปัญหา และปฏิเสธความต้องการพื้นฐานด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดและระบบความเชื่อต่างๆที่เคยยึดถือ มองข้ามสิ่งที่เคยให้ความสำคัญเช่น เพื่อน หรืองานอดิเรกไป

 

ระยะที่ 6: ไม่ยอมรับปัญหา/ความขัดแย้ง (Denial of emerging conflicts)

มาระยะนี้ ความอดทนจะต่ำลง มองเพื่อนร่วมงานว่า ไม่ฉลาดเท่า ขี้เกียจ ไม่มีวินัย ทำให้ไมอยากจะไปติดต่อหรือสุงสิงด้วย และจะเริ่มแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว

 

ระยะที่ 7: เลิกติดต่อกับสังคม (Withdrawal)

ในระยะนี้ เขาจะลดการติดต่อผู้อื่นให้เหลือน้อยที่สุด อยู่คนเดียวและสร้างกำแพง ทำให้ตัวเองรู้สึกไม่อนาคต หรือความหวังในชีวิต

 

ระยะที่ 8: พฤติกรรมเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด (Obvious behavioral changes)

คนรอบๆตัวไม่มีใครจะมองข้ามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เจ้าตัวจะเริ่มรู้สึกกลัวและรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่ามากขึ้นเรื่อยๆ

 

ระยะที่ 9: ไม่เป็นตัวของตัวเอง (Depersonalization)

มองไม่เห็นค่าของตัวเองและคนอื่น มีชีวิตอยู่ไปวันๆ อย่างหุ่นยนต์

 

ระยะที่ 10: ข้างในว่างเปล่า (Inner emptiness)

ความรู้สึกว่างเปล่าภายในขยายตัวมากขี้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะหยุดความรู้สึกนี้ จึงจำเป็นต้องหาอะไรทำตลอดเวลา การกระทำก็จะออกแนวสุดโต่ง เช่น กินแหลก เมากระจาย เป็นต้น

 

ระยะที่ 11: ห่อเหี่ยว หดหู่ (Depression)

ในระยะนี้ ทุกอย่างรอบตัวดูหดหู่ สิ้นหวังในขีวิต และเริ่มปรากฏการอาการของโรคซึมเศร้า

 

ระยะที่ 12: หมดไฟ ใจหมดแรง (Burnout syndrome)

เกือบทุกคนที่ถึงขั้นนี้จะเคยมีความคิดฆ่าตัวตายเพื่อจะหนีปัญหา แม้จะมีไม่กี่รายที่จะฆ่าตัวตายจริงๆ แต่เขาก็จะทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างสาหัส คนกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

 

อ่านจบแล้วมองดูตัวเอง และคนรอบๆตัว ว่ายังสบายดีอยู่รึเปล่า

อย่าปล่อยให้ถลำหมดไฟไปอย่างเดียวดายนะครับ…