สกัดบทเรียนฝ่าวิกฤตกับ Food Passion

From all around / 30 July 2021 / 33

ในยุควิกฤตโควิด 19 ที่ยืดเยื้อมาปีกว่าแล้วยังไม่เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ ทุกภาคธุรกิจล้วนได้รับผลกระทบ ทุกบริษัทต่างต้องปรับตัวกันจนเหนื่อยไม่มาก ก็มากที่สุด

ทาง Kincentric ได้รับเกียรติจากคุณนาฑีรัตน์ บุญรัตน์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด มาแบ่งปันประสบการณ์วิธีคิด วิธีบริหารในช่วงวิกฤตนี้ ซึ่งสร้างพลังบวกให้ผมและทีมเป็นอย่างมาก จึงขอสกัดประโยคเด็ดๆ เป็นบทเรียนที่ผมได้จากคุณแตนมาฝาก

งานยาก ถ้าคิดว่ามันยาก มันจะยาก

ประโยคนี้ไม่ใช่คำคมของนักเรียนโอลิมปิก แต่เป็นเรื่องของมุมมองของแต่ละคนต่อปัญหาจริงๆ ถ้าเราคิดว่างานมันยาก ก็จะปิดตัวเองในการหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ ถ้ามองเป็นความท้าทายก็จะสนุกกับการหาวิธีทำงานให้สำเร็จ หรือง่ายขึ้น

สู้โว้ย!

การกระตุ้น สร้างขวัญกำลังใจให้กับทีมอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะในช่วงที่มีวิกฤต แถม Work From Home แบบนี้ อาจใช้วิธีให้ทุกคนตะโกน “สู้โว้ยๆ” ก่อนจบประชุม หรือมีกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้พนักงานรู้สึก connect กันแม้ตัวอยู่ห่างกัน

ไม่เป็นไร ไข่ไว้

ประโยคที่ใช้เวลาทีมทำพลาด หรือเสนอไอเดียที่ยังไม่ work สำหรับตอนนี้ การที่หัวหน้าหรือผู้บริหารไม่ตำหนิ หรือฆ่าไอเดีย โดยการแปะไว้ก่อน หรือไข่ไว้ เป็นช่วยสร้าง psychological safety ให้พนักงานสบายใจ และกล้าที่จะเสนอไอเดียแปลกๆ ลองทำอะไรใหม่ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้าง innovation culture ในองค์กร

เขาให้มาเป็นอะไรอย่าเป็นแค่นั้น

อย่าตีกรอบกับงานในบทบาทของเรา เป็น HR ก็เข้าใจเรื่อง Marketing เรื่องการสื่อสารองค์กรได้ ไม่จำกัดความรู้ หรือทำเฉพาะงาน HR นอกเหนือจากนั้น คุณแตนถามตัวเองทุกวันว่า

เราทำอะไรได้อีก ทำได้มากกว่านี้อีกรึเปล่า?

ไม่หยุดเพียงแค่งานเสร็จ Go extra miles เพื่อลูกค้า เพื่อองค์กร และเพื่อความภูมิใจในผลงานตัวเองว่าได้ทำอย่างเต็มความสามารถแล้ว

สุขให้ง่าย

เคล็ดลับความสุขของคุณแตน ในสถานการณ์แบบนี้ สุขยากก็ทุกข์มาก มองสิ่งเล็กๆ และ small win เป็นความสุข และพยายามฉลอง หรือ mini celebration เพื่อเติมขวัญกำลังใจของทีมและตัวเอง

ตัวจริง คือ ตัวจริง

วิกฤตต่างๆ เป็นตัวช่วยตอกย้ำความเป็นตัวจริงของ Bar B Q Plaza ที่ไม่ใช่มีดีเพียงน้ำจิ้ม หรือเนื้อ แต่คือประสบการณ์ทั้งหมดของลูกค้าที่พิสูจน์ความเป็นตัวจริง ซึ่งสามารถแตกรายละเอียดให้กับพนักงานทุกระดับถึงหน้างานให้เห็นว่างานที่ทำจะช่วยเพิ่มประสบการณ์กับลูกค้าให้เห็นความเป็นตัวจริงได้อย่างไร


นี่เป็นส่วนหนึ่งของประโยคเด็ดๆ ที่ผมสกัดมาจากการ sharing session สั้นๆ นอกเหนือจากนี้ผมชอบการใช้คำที่สั้น กระชับ ในการสื่อสารกลยุทธ์ และแผนที่ติดหู ไม่จำเป็นต้องแปลต่อ เช่น Scrum ทำได้จริง หรือหน้าที่ของ management คือ บอกน้อง ส่งเสริม เพิ่มพลัง เป็นต้น ซึ่งช่วยในการสื่อสารและปฏิบัติให้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ในช่วงนี้การเติมกำลังใจผ่านการเรียนรู้วิธีการสร้างกำลังใจให้กันและกันเป็นสิ่งที่สำคัญในการสู้ และปรับตัวไปด้วยกันก่อนสถานการณ์จะดีขึ้น ถ้ามีเทคนิคหรือวิธีคิด วิธีทำงานดีๆ แนะนำก็มาร่วมแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ