10 สัญญาณอันตรายในมุมของคนสัมภาษณ์งาน

Interview / 21 October 2019 / 36

งานสมัยนี้ไม่ได้หากันง่ายๆ หากคุณได้ผ่านการกรองใบสมัครไปถึงรอบสัมภาษณ์ โอกาสของคุณในฐานะแคนดิเดตที่จะได้งานก็เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย ถ้าคุณตอบคำถาม และนำเสนอตัวเองได้ดี เข้าตาผู้สัมภาษณ์

นอกเหนือจากคุณสมบัติ และประสบการณ์ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวบุคคล และสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์มองหาสำหรับตำแหน่งที่เปิดอยู่ ผมอยากจะแบ่งปัน 10 สัญญาณอันตราย หรือเป็น Red Flag ในมุมของผู้สัมภาษณ์ ถ้าเห็นแคนดิเดตตอบคำถาม หรือมีลักษณะอย่างนี้ อาจต้องหยุดพิจารณาเป็นพิเศษ โดยผมดึงมุมมองบางส่วนมาจากหนังสือ Who: The A Method for Hiring ที่ผู้เขียนกลั่นมาจากประสบการณ์ในที่เป็นผู้สัมภาษณ์หาผู้บริหารให้กับองค์กรใหญ่ๆ

ไม่เพียงมีประโยชน์เฉพาะแคนดิเดตที่กำลังเตรียมตัวสัมภาษณ์งาน หากคุณเป็น Hiring Manager หรือ HR ก็สามารถปรับใช้ Red Flag 10 ข้อนี้เพื่อช่วยกรองคนที่สัมภาษณ์ได้เช่นกัน

1. แคนดิเดตไม่ได้พูดถึงความผิดพลาด หรือความล้มเหลวของตัวเองในอดีตเลย

ประสบความสำเร็จมาตลอด ไม่เคยทำอะไรพลาดเลย

2. แคนดิเดตพยายามขยายความคำตอบให้ดูมากเกินความจริง

ฟังแล้วจะรู้สึกว่า too good to be true

3. แคนดิเดตเอาผลงานของคนอื่นมาอ้างว่าเป็นคนตัวเอง

ตั้งแต่คิดไอเดียเอง ชงเรื่องเอง ทำเอง present เอง ไม่มีใครช่วยเลย ผลงานฉันล้วนๆ

4. แคนดิเดตพูดถึงหัวหน้าเก่าในด้านลบอย่างเสียๆ หายๆ

ว่าที่หัวหน้าใหม่ๆ ที่สัมภาษณ์อยู่ ฟังไปก็เหงื่อตก ถ้ารับมาจะพูดถึงเราแบบนี้มั้ย?

5. แคนดิเดตไม่สามารถอธิบายเหตุผลการเปลี่ยนงานแต่ละครั้งได้

ทุกอย่างดูมีเงื่อนงำ ฟังแล้วไม่ค่อย make sense

6. ครอบครัวหรือคนที่แคนดิเดตให้ความสำคัญ ไม่สนับสนุนการย้ายงาน

โดยเฉพาะถ้าเป็นงานที่ต้องเดินทางบ่อย หรือไปประจำที่ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ ปัจจัยการสนับสนุนจากครอบครัวมีความสำคัญมาก

7. แคนดิเดตในตำแหน่งหัวหน้างานหรือผู้บริหาร ไม่เคยรับคน หรือให้คนออก

ข้อนี้พอเข้าใจได้ถ้าประสบการณ์การเป็นหัวหน้างานยังไม่นาน แต่ถ้าเป็นผู้บริหารระดับสูงแล้วยังไม่เคยรับคน หรือให้คนออก อาจจะขาดมุมมองส่วนสำคัญของการบริหารจัดการคนได้

8. แคนดิเดตสนใจกับค่าตอบแทนและสวัสดิการมากกว่าตัวเนื้องาน

เอะอะ ก็ถามแต่โบนัสกี่เดือน ลาพักร้อนติดกันได้กี่วัน โดยไม่สนใจ และพยายามเข้าใจรายละเอียดของงาน ถือเป็น Red Flag เต็มๆ

9. แคนดิเดตพยายามที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญมากเกินไป

บางคนพยายามที่จะทำให้ตัวเองดูเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่พยายามมาเกินไปก็เลยโป๊แตก ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงเขาไม่ต้องพูดเยอะ

10. แคนดิเดตที่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง

ถ้ามองแต่เรื่องของตัวเอง ความรู้สึกของตัวเอง สิ่งที่ตัวเองจะได้ โดยไม่มองภาพของงาน หรือองค์กร ก็ยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้


หวังว่า 10 สัญญาณอันตรายนี้จะมีประโยชน์ ถ้าคุณมี Red Flag อื่นที่ไม่อยู่ใน 10 ข้อนี้ก็เขียน comment แบ่งปันกันได้เพิ่มเติมนะครับ