4 เรื่องที่คุณอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับแบบทดสอบบุคลิกภาพ (Personality Test)

From all around / 27 August 2017 / 32

Full disclosure: ปัจจุบันผู้เขียนเป็น Senior Consultant ของบริษัท Aon Hewitt เจ้าของแบบทดสอบ ADEPT-15, ข้อมูลใน blog นี้เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กร

ตั้งแต่เด็กๆ ผมเป็นคนชอบทำแบบทดสอบด้านบุคลิกภาพ หรือลักษณะนิสัย (Personality Test) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยากรู้ว่าผลออกมาจะตรงกับที่เราคิด ว่าเราเป็นหรือเปล่า อีกส่วนหนึ่งก็อยากรู้จักตัวเองในด้านที่เราอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน

แบบทดสอบที่ทำก็มีตั้งแต่ทำขำไม่กี่ข้อในนิตยสาร ที่มีคำอธิบายผลท้ายหน้า ไปจนถึงแบบทดสอบจริงจังที่ต้องเสียเงินหลายพัน ทำเสร็จแล้วมีรายงานส่งมาให้เป็นเรื่องเป็นราว

เนื่องจากงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ผมมีโอกาสได้ certify เครื่องมือ The Adaptive Employee Personality Test (ADEPT-15) ซึ่งเป็น personality test ที่เน้นสำหรับการทำงาน ทำให้ผมเห็นเข้าใจแบบทดสอบบุคลิกภาพ (โดยเฉพาะ ADEPT-15) ดีขึ้น เลยขอกล่าวถึง 4 เรื่องที่มักมีคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับแบบทดสอบประเภทนี้

1. มี profile ที่สมบูรณ์แบบ

ผมเคยเชื่อว่าเวลาทำแบบทดสอบบุคลิกภาพ จะต้องมีคำตอบที่ถูก หรือ profile ที่ดีที่สุด แต่ความจริงแล้ว perfect profile หรือ profile ที่ดีที่สุดนั้นไม่มีอยู่จริง เราต้องเข้าใจก่อนว่าเราทำแบบทดสอบบุคลิกภาพเพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่ตัวเอง ‘มีแนวโน้ม’ ที่จะเป็น เพราะไม่มีแบบทดสอบไหนที่ให้ผลถูกต้อง 100% คนที่ใช้ผลต่อ (เช่น ฝ่าย HR ของบริษัท) จะพิจารณาต่อว่า profile แบบนี้มีแนวโน้มเหมาะกับองค์กร หรือเหมาะกับงานด้านไหนเป็นพิเศษหรือไม่

2. แบบทดสอบพวกนี้โกงได้

คนที่โตมากับการทำข้อสอบตัวเลือก มักเชื่อว่าตัวเองสามารถโกงแบบทดสอบบุคลิกภาพได้ (ถ้าต้องการ) เพื่อให้เรา ‘ดู’ เป็นคนที่คิดว่าเหมาะสม และเป็นที่ต้องการมากกว่าตัวเองจริงๆ เช่น เป็นคนที่ขยัน ทุ่มเท หรือ กล้าแสดงออก (กว่าตัวจริง) ซึ่งหลายแบบทดสอบก็สามารถโกงได้ ปัจจุบันแบบทดสอบก็เริ่มพัฒนา และตรวจจับความพยายามในการหลอกเครื่องมือ ด้วยหลายวิธี เช่น คำถามที่ปรับเปลี่ยนไปตามคำตอบของเรา หรือการถามเทียบกับตัวเลือกที่ใกล้เคียง และให้ผลเป็นความต่อเนื่องของคำตอบเราด้วยวิธีการสถิติ ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของผลที่ได้ออกมา

3. อ่านผลการทดสอบเอง ไม่จำเป็นต้องมีคนอ่านผล (debrief) ให้ฟัง

หลังจากทำแบบทดสอบบุคลิกภาพเสร็จ แบบทดสอบส่วนใหญ่จะมีผล หรือรายงานให้กับคนทำแบบทดสอบ หรือคนที่จะไปใช้ผลต่อ แม้หลายๆ แบบทดสอบในปัจจุบันจะเริ่มให้ความสำคัญกับการมีคนอ่านผล ควบคู่ไปกับรายงาน แต่ยังมีอีกคนอีกไม่น้อยที่เชื่อว่าตัวเองสามารถอ่านผลจากรายงานได้เอง ซึ่งผมมองว่าถูกเพียงส่วนเดียว

จากประสบการณ์ที่ผมได้มีคนอ่านผล และได้ผ่านการ certify เพื่ออ่านผลของแบบทดสอบ ADEPT-15 ให้กับคนอื่น ผมเชื่อว่าคุณค่าของการอ่านผลจากคนที่มีประสบการณ์ คือ ความเข้าใจในบริบท และความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยของแบบทดสอบ ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ และผลอย่างละเอียด ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาจุดแข็ง หรือปรับปรุงจุดอ่อนของเราได้ดีขึ้น

4. บริษัทให้ทำเพื่อใช้คัดคนเข้าทำงานอย่างเดียว

แม้การใช้แบบทดสอบบุคลิกภาพในการทำงานส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเน้นเพื่อการคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน แต่ประโยชน์ของการเข้าใจบุคลิกภาพของตัวเอง และในมุมของหัวหน้าหรือองค์กร สามารถนำไปใช้กับตลอดวงจรชีวิตของพนักงานตั้งแต่ การเลือกลักษณะงานที่เหมาะสม, การจัดทีมให้เหมาะสมกับช่วงของธุรกิจ, การบริหารจัดการทีม, การพัฒนาส่วนบุคคลประจำปี, การพัฒนาความเป็นผู้นำ, การเลือกผู้สืบทอดตำแหน่ง เป็นต้น

สรุปได้ว่า การทำแบบทดสอบบุคลิกภาพไม่ว่าจะเพื่อเข้าใจตัวเองให้ดีขึ้น หรือเพื่อองค์กรเข้าใจเราได้ดีขึ้นเพื่อหาคนที่ ‘เหมาะ’ สำหรับองค์กร ก็ล้วนแต่มีข้อดี สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณจะทำอะไรต่อกับข้อมูล หรือรายงานเหล่านี้ บางคนอาจจะอ่านผลเพื่อยืนยัน หรือปฏิเสธผลเทียบกับความเข้าใจของตัวเองแล้วก็ผ่านไป ขณะที่บางคนพยายามทำความเข้าใจจุดแข็ง และจุดบอดของตัวเองเพื่อพัฒนาและปรับปรุงตัวเองในอนาคต

ป.ล. ถ้าองค์กรไหนสนใจเครื่องมือ ADEPT-15 ผมยินดีจะประสานติดต่อกับทีมงานเพื่ออธิบายรายละเอียดให้ได้ครับ


ถ้าชอบบทความนี้ คุณอาจจะสนใจ Monday’s Spark with Chutchapol.com ซึ่งผมคัดไอเดียเจ๋งๆ คำถามโดนๆ มาช่วยกระตุ้นพลังการทำงานทุกเช้าวันจันทร์

Click Here to Subscribe