[คุยแบบชัชๆ] #008: ดร.การดี เลียวไพโรจน์

Interview / 7 October 2016 / 25

แขกรับเชิญ [คุยแบบชัชๆ] ท่านที่แปด ผมได้รับเกียรติจาก ดร.การดี เลียวไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการ C asean มาพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ในมุมมองของผู้หญิงมากความสามารถ ทั้งในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย ก่อนจะผันตัวมารับบทบาทใหม่ในฐานะผู้บริหาร โดยไม่พลาดบทบาทคุณแม่ที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย

ตลอดการสัมภาษณ์นี้ ผมรับรู้ถึงพลังของดร.การดี หรือพี่อ้อ ที่ต้องการจะผลักดันงานทุกอย่างที่รับผิดชอบให้ออกมาดีที่สุด และยังสนุกกับชีวิตในทุกวัน


สิ่งที่คุณจะได้เรียนรู้

  • Trend และสิ่งที่อยากบอกกับเด็กไทยรุ่นใหม่
  • App ประจำที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
  • เคล็ดลับการทำงานให้มีความสุข
  • นิยามความสำเร็จ

ช่วยแนะนำตัวสั้น ๆ สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก

พี่ชื่อการดี เลียวไพโรจน์ หรือเรียกว่าพี่อ้อก็ได้ พี่เรียนจบมาจากคณะวิศวกรรมอุตสาหการ ตั้งแต่ปริญญาตรี โท แล้วก็เอกเพราะตอนนั้นตั้งใจอยากเป็นครู ก็ได้เป็นสมใจ ระหว่างนั้นมีโอกาสได้ทำงานวิจัย และเป็นผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้นก็ยังมีงานวิทยุ เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ แล้วก็ทางทีวีเป็นสารคดีแบบรายงานข่าว พอสอนได้สัก 10 กว่าปี เลยต้องการจะลองเปลี่ยนอาชีพ ตอนนี้ก็มาทำอยู่ที่ C asean ค่ะ

C asean ทำอะไรเหรอครับ

เล่าแบบโดยย่อ C asean เป็นบริษัทที่ Thai Beverage ก่อตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หรือพันธกิจสำคัญในการที่จะเป็น platform เชื่อมคนรุ่นใหม่ในอาเซียน คือเราจะทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดประชาคมอาเซียนที่ดีขึ้น ผ่าน 3 ประเด็นหลัก ๆ คือ business art แล้วก็ culture ก็คือในเชิงธุรกิจ ศิลปะ และวัฒนธรรม เราต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประชาคมอาเซียนโดยเน้นสร้างความเข้าใจระหว่าง people to people และเป้าหมายที่เราเน้นไปก็คือกลุ่มของคนรุ่นใหม่ หรือว่า Young Generation

อันนั้นคือกรอบแนวคิดในเรื่องของซีอาเซียนคืออะไร เป็นการแปลความจากความตั้งใจของเราค่ะ มันเป็นกิจกรรมย่อย ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันที่ซีอาเซียน คือเริ่มตั้งแต่พยายามทำให้การเข้าถึงหรือการเชื่อมโยงของคนในอาเซียนมันง่ายยิ่งขึ้น ในเชิงธุรกิจ อย่างเช่นตอนนี้มีเทคโนโลยีเข้ามา ก็มีเพื่อนจากสิงคโปร์ เขาอยากจะมาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง เรื่องของ Crowdfunding เรื่องของ start up ในสิงคโปร์ มันก็เหมือน เราก็เป็น platform ในการ share องค์ความรู้ ระหว่างสิงคโปร์กับไทย และยังมี community อื่น ๆ เนื่องจากซีอาเซียนของเราเปิดกว้าง คือที่นี่เราพูดได้หลายภาษา กิจกรรมหลายอย่างก็เป็น by learning group ของเจ้าของภาษา อย่างงานช่วงนี้ก็เป็นภาษาอังกฤษเสียส่วนมาก ยิ่งเรามีกิจกรรมมากเราก็ยิ่งมีเพื่อนมากขึ้น เลยทำให้รู้ว่าในไทยเราก็มี community หลากหลายมากเหมือนกันค่ะ จากหลากหลายประเทศเลย

target คนรุ่นใหม่ คือเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือว่าจะเป็นคนทำงานนะครับ

ได้ทั้งหมดค่ะ คนรุ่นใหม่เราไม่ได้นับเพียงแค่อายุเท่านั้น แต่ดูที่ความกระตือรือร้นอยากเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ก็นับเป็นคนรุ่นใหม่ กิจกรรมที่จัดส่วนใหญ่จะดึงดูดคนในช่วงระหว่างมหาวิทยาลัยและช่วงเริ่มต้นเข้าสู่การทำงาน

จากการที่มีโอกาสได้สอนและคลุกคลีกับเด็กรุ่นใหม่จนถึงปัจจุบัน เห็นความเปลี่ยนแปลง หรือ trend ของเด็กไทยรุ่นใหม่เป็นอย่างไรบ้าง

ที่พี่มองโดยเฉลี่ยส่วนใหญ่ก็น่าเป็นห่วงมาก แต่บางทีก็พูดยาก เพราะว่าหลายคนที่เราสัมผัสเวลาทำงานที่ C asean คือคนที่อยากเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยากเปิดกว้างมุมมองของตัวเอง เพราะฉะนั้น เด็กที่เราเจอกันทุกวัน ส่วนใหญ่จะเป็นเป็นเด็กที่ใฝ่รู้ คือ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเรียน แต่ว่าอยากรู้เรื่องใหม่ แต่ถ้ามองเด็กไทยส่วนใหญ่ ก็รู้สึกเป็นห่วง ตั้งแต่กรอบวิธีคิด กรอบในการมองหาโอกาสของตัวเขาเอง ยังเป็นกรอบที่จำกัด โดยเส้นทางการสอบของเขาไปเรื่อย ๆ มากกว่าที่จะมองเห็นโอกาสที่มันเกิดขึ้นในโลก

แล้วพี่อ้ออยากบอกอะไรกับคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้         

พี่อยากบอกให้เขาเร่ง คือการเรียนรู้เนี่ยไม่ได้เกิดขึ้นในห้องเรียนหรือโรงเรียนเท่านั้น แล้วการเรียนรู้เป็นหน้าที่เขา ไม่ใช่หน้าที่ของครูด้วยนะคะ ด้วยความที่ตัวเองเป็นครูมาก่อน บางคนบอกว่าก็ครูสอนแค่นี้ เขาจึงจำเป็นต้องรู้แค่นี้ หรือว่าพวกคุณจะสอนแค่นี้ เขาก็รู้แค่นี้แล้วกัน แต่จริง ๆ อยากจะบอกว่าการเรียนรู้เป็นหน้าที่ของทุกคน ที่จะต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความรู้หรือประสบการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นนอกห้องเรียน ก็อยากให้มีความกระตือรือร้น

แล้วอะไรจะเป็นแรงจูงใจให้ เรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องกระตือรือร้นศึกษาเพิ่มเติมหลังเรียนจบครับ

พี่ว่าถ้าเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยอมเปิดใจ พี่จะแนะนำให้เปิดโอกาสให้ตัวเอง เปิดกว้างลองสิ่งใหม่ ๆ และยอมรับในสิ่งที่เจริญแล้วข้างนอกบ้าง

ยกตัวอย่างง่าย ๆ สมมุติว่าเราอ่านข้อมูลในอินเทอร์เน็ต แค่เว็บไซต์ภาษาไทย พี่ว่าแค่นี้ไม่พอ คือเป็นภาษาไทยมันก็ดีล่ะนะ แต่ว่าทุกครั้งที่เวลาพี่อ่านข่าว สรุปข่าว ทุกเช้า พี่ต้องอ่านจากหลายแหล่ง แล้วเรารู้เลยว่าเวลาเราอ่านแหล่งข่าวที่เป็นภาษาไทย คือการสรุปส่วนใหญ่จะตื้นเขินมาก ถ้าเกิดใครอ่านแค่นั้น แล้วเชื่อตามนั้น ก็เศร้าแล้ว ส่วนตัวพี่จะพยายามหาข่าวแหล่งอื่น ๆ มาประกอบด้วย วิธีคิดแบบนี้ถามว่ามีคนบอกเราไหม คำตอบคือไม่มี ข้อมูลข่าวเรื่องเดียวกัน เหตุการณ์เรื่องเดียวกัน แต่การวิเคราะห์ตื้นลึกก็จะแตกต่างกันในหลาย ๆ มิติ คือองค์ความรู้มันอยู่ข้างนอกมากมาย แล้วโดยเฉพาะยุคนี้เนี่ย เกิดขึ้นมาจากยุคเทคโนโลยีล้วน ๆ เด็กรุ่นใหม่มีโอกาสมากกว่าสมัยเราเป็นเด็กเยอะ

อยากให้เปิดกว้างว่าองค์ความรู้มันอยู่ข้างนอก แล้วไม่อยากให้รู้สึกว่าไม่รู้สึกพอ พี่มักจะบอกหลาย ๆ คน โดยเฉพาะนักเรียนว่า Nobody achieve a great thing by doing minimum คือไม่มีใครที่สามารถทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้ โดยทำอะไรแบบมักน้อย ถ้าอยากจะได้อะไร อยากทำอะไร ก็ต้องทุ่มเทเต็มที่ พี่รู้สึกว่าความทุ่มเทแบบนี้ของคนรุ่นใหม่ดูน้อยลงไป

เห็นพี่อ้อสวมสารพัดบทบาท ตารางวันทำงานปกติเป็นยังไงเหรอครับ

ตอนเช้าพี่ตื่นเช้ามาก เพราะว่าต้องไปส่งลูกที่โรงเรียน ก็คือต้องไปส่งเขาที่โรงเรียนก่อน 07.30 น. หลังจาก 07.30 น. ก็จะอ่านข่าว ก่อนสรุปข่าวด้านเศรษฐกิจทางโทรศัพท์เข้าวิทยุตอน 08.30 น. แล้วถึงไปทำงาน

เวลาทำงานก็จะยุ่งมาก แต่ก็ชินแล้ว แล้วก็พยายามแบบ คือพี่เรียน IE (Industrial Engineering) มาเลยเชื่อในเรื่องของ efficiency เลยพยายามจัดการเรื่องทุกอย่างมันให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จะมีน้อยมากที่จะนั่งอยู่เฉย ๆ แล้วไม่มีอะไรทำ หลายคนก็ไม่รู้เลยว่าเห็นงานยุ่งขนาดนี้ แต่ตอนเช้าพี่ไปส่งลูกทุกวัน ตอนเย็นพี่ก็ไปรับลูกทุกวัน แล้วก็กลับมานั่งทำงาน ก่อนจะกลับบ้าน

มีเทคนิคหรือว่ามี App ช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เวลาแนะนำไหมครับ

ตอนนี้หลัก ๆ พี่ใช้ Google Map เวลาหาเส้นทางเดินทางอย่างกรุงเทพ เพราะสามารถคำนวณทั้งเส้นทาง และเวลาการเดินทางได้น่าเชื่อถือขึ้นมาก แล้วอีก App ที่ใช้ประจำคือ Evernote ช่วยบันทึกข้อมูลต่าง ๆ

ผมเห็นพี่อ้อมีความสุขกับการทำงาน อะไรเป็นเคล็ดในการทำงานอย่างมีความสุขของพี่ครับ

ถ้าเป็นเรื่องการทำงานกับอาชีพ ก็คือไม่เคยตามเงินเลย พอมีเงินใช้ก็พอ เพราะเป็นคนไม่ใช้เงินเยอะอยู่แล้ว ไม่ค่อยติดของแบรนด์เนม ไม่งั้นคงต้องทำงานหนักกว่านี้ สิ่งที่เป็น motivation หรือ drive ของพี่ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เพราะบ้าน พี่เป็นลูกสาวคนเดียว นอกนั้นก็เป็นพี่ชายกับน้องชาย แล้วก็โดนสอนว่าผู้หญิงต้องพึ่งตัวเองให้ได้ แล้วก็ you have to define your own success พี่จึงมีความสุขเวลาพี่ทำงานแล้วมีคนได้ประโยชน์ คือคนได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ คือเราทำงานในสิ่งที่เราเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ทำให้อยากทำ อยากทำมากขึ้นเรื่อย ๆ เลยกลายก็เป็น motivation อีกแบบหนึ่ง

นิยามความสำเร็จของตัวเองคือ

พี่อยากเป็นคนมีประโยชน์ คือวันนี้พี่รู้สึกว่าตัวเองบรรลุเป้าความสำเร็จที่ตั้งไว้ทุกวัน ตั้งแต่ที่ได้มาสอนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ พี่รู้สึกว่าพี่เป็นครูที่ดี ประสบความสำเร็จในฐานะครูที่ดี พอวันนี้มาทำในงานด้านธุรกิจ พี่ก็ว่าพี่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อหาเงินอย่างเดียว แต่มีสมดุลกับด้านผลกระทบกับสังคม (social impact) ด้วย

เวลามีคนถามว่าอะไรคือเป้าหมายในชีวิต พี่บอกวันนี้ I achieve my goal ทุกวัน เวลามานั่งทบทวนดูสิ่งที่ตัวเองมีความสุขที่สุด คือการที่น้อง ๆ ได้ความรู้ เขาเก่งขึ้น เขาได้ประโยชน์ เขามีโอกาสขึ้น อันนั้นมันคือความสำเร็จที่เราต้องการเห็นทุกวัน ได้ทำประโยชน์กับคนอื่น เพราะตัวเองไม่ได้เป็นคนที่ตั้งเป้าหมายว่าต้องมีบ้านหลังนั้น ต้องมีรถคันนั้น หรือว่าจะต้องเป็นตำแหน่งนั้น แต่ว่าตั้งแต่เด็กจนโตมาตอนนี้ อยากเป็นอยู่ 3 อย่าง คือ สวย รวย เก่ง คืออยากหน้าตาดี อยากมีเงิน แล้วก็อยากเป็นคนที่ทุกคนยอมรับว่าเราเป็นคนเก่ง

ถ้าสมมติว่าพี่อ้อได้นั่ง time machine กลับไปเจอตัวเองตอนที่ตัวเองจบตรีใหม่ ๆ อยากจะบอกอะไรกับตัวเองครับ

พี่จะบอกว่า เวลาเลือกทำอะไร ให้เลือกทำของที่ยากเข้าไว้ เราเริ่มต้นในสิ่งที่ยาก แล้วชีวิตหลัง ๆ ก็จะสบาย ไม่เหนื่อย ถ้าเราเลือกมักง่าย เลือกทำแต่สิ่งง่าย ๆ เราก็จะไม่เคยพบกับความท้าทาย เราก็จะติดอยู่ในกรอบของความง่าย ๆ ของตัวเอง


ถ้าชอบบทความนี้ คุณอาจจะสนใจ Monday’s Spark with Chutchapol.com ซึ่งผมคัดไอเดียเจ๋ง ๆ คำถามโดน ๆ มาช่วยกระตุ้นพลังการทำงานทุกเช้าวันจันทร์

Click Here to Subscribe