[คุยแบบชัชๆ] #002: ฯพณฯ นายบรรสาน บุนนาค

Interview / 20 November 2015 / 67

แขกรับเชิญ [คุยแบบชัชๆ] ท่านที่สอง ผมได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายบรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูตไทย ณ สิงคโปร์ มาแบ่งปันประสบการณ์ในมุมมองของนักการทูต อาชีพที่น้อยคนจะมีโอกาสได้สัมผัส ตลอดหนึ่งชั่วโมงผมที่สัมภาษณ์ ผมได้เรียนรู้เรื่องที่น่าสนใจหลายเรื่องเกี่ยวกับงานด้านการทูตที่ไม่เคยทราบมาก่อน ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งกับการทำงาน และการใช้ชีวิตได้ทันที

บทสัมภาษณ์นี้อาจจะยาวซักนิด แต่ผมเชื่อว่าคุ้มค่าเวลาแน่นอนครับ

_____________________________________________________________________________

สิ่งที่คุณจะได้เรียนรู้

  • คุณจะฝึกเมตตากับลูกน้องที่ทำให้ปรี๊ดได้อย่างไร
  • ป้ายแกะสลักชื่อตัวเอง กับคำสอนสำหรับคนที่เริ่มทำงาน
  • ความสอนที่ซ่อนอยู่ในเพลงบัวแก้ว
  • จุดแข็งของคนไทย
  • สิ่งสำคัญที่สุดในการปรับตัวให้เข้ากับสังคม หรือประเทศใหม่ที่ไปอยู่ 

_____________________________________________________________________________

อยากให้ท่านทูตแนะนำตัวเองในมุมที่คนทั่วไปอาจไม่เคยทราบมาก่อน

พี่ชื่อบรรสาน บุนนาค บรรสาน เป็นชื่อที่ล้อมาจากชื่อของคุณพ่อ ซึ่งท่านชื่อ “บรรจบ” สมเด็จพระสังฆราช จวน อุฏฐายี ท่านทรงตั้งให้ ชื่อ”บรรสาน” เป็นคำแผลงของคำว่า “ประสาน” โดยธรรมชาติของชื่อ น่าจะทำหน้าที่ประสานงาน ประสานความสัมพันธ์เรื่องต่าง ๆ ได้ พี่เรียนจบปริญญาตรีที่จุฬาฯ ก่อนไปต่อปริญญาโทที่อเมริกา ที่ University of Detroit, Michigan

ตอนแรกยังไม่แน่ใจว่าอยากจะเป็นอะไร ตอนมัธยมเรียนแผนกวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ คิดว่าจะเป็นหมอ จะเป็นสถาปนิก จะเป็นวิศวกร ในตอนนั้นใครที่พอจะเรียนดี เขาก็อยากไปเรียนวิทย์ไว้ก่อน พี่ ๆ บอกว่าถ้าอยากทำประโยชน์ให้บ้านเมืองให้มาเรียนรัฐศาสตร์ ก็เลยมาเลือกเรียนรัฐศาสตร์ เพราะบรรพบุรุษก็อยู่ในสายการปกครอง เจ้าคุณปู่คือพระยาศรีธรรมาศกราช ท่านเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุบล เหมือนกับผู้ว่าราชการภาคอีสาน พี่คิดว่า ถ้าเกิดเราไม่เป็นทหารอย่างคุณพ่อและ พี่ชายก็เป็นทหารแล้ว พี่เลยเลือกมาทางนี้ เพราะสายทางตระกูลเราก็สืบราชการมาทางนี้

พี่เรียนทางด้านรัฐศาสตร์การปกครอง ไม่ค่อยแน่ใจว่านักว่าจะเป็นชีวิตที่เราปรารถนาหรือเปล่า เมื่อได้ไปทดลองฝึกทำงานอยู่ที่อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร แล้ว เราจึงรู้ว่างานลักษณะนี้คงไม่ค่อยชอบ เลยเบี่ยงเบนไปเรียนต่อปริญญาโททางด้านการต่างประเทศ

จบกลับมาที่กระทรวงการต่างประเทศยังไม่เปิดให้สมัครสอบแข่งขัน พี่จึงไปเริ่มทำงานที่แบงค์ก่อน แต่ก็ยังไม่ชอบ นอกจากนั้นทางแบงค์จะกรุณาให้ทุนพี่ไปเรียนงานที่ Barclays Bank ซึ่งจะผูกมัดตัวเองไปอีก เลยรีบออกไปสอบเข้าสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ไปทำงานอยู่พักหนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศเปิดสอบ จึงขออนุญาตหัวหน้าฝ่าย ซึ่งตอนนั้นคือพี่อ้อย สรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม (ต่อมาท่านได้เป็นถึงเลขาธิการสภาพัฒน์) เป็นหัวหน้าฝ่าย ท่านก็เสียใจเพราะคิดว่าจะส่งเสริมพี่ให้เจริญก้าวหน้าที่สภาพัฒน์ เลยเอ็ดพี่เสียยกใหญ่ที่พี่จะลาออก

พี่คิดอยู่นานว่าจะขออนุญาตไปสอบดีหรือจะแอบหนีไปสอบดี สุดท้ายตัดสินใจได้ว่าเราจะเริ่มต้นชีวิตรับราชการแล้วต้องโกงแล้วตั้งแต่ต้น คือต้องไม่พูดความจริงว่าได้รับราชการที่ไหนมาก่อน อย่างนี้ไม่ถูก พี่ต้องไปขออนุญาตผู้บังคับบัญชา เพื่อได้ใบอนุญาตว่าให้มาสอบได้ ซึ่งถ้าพอสอบได้แล้วจะสามารถโอนอายุราชการจากที่สภาพัฒน์มาได้ด้วย

พี่ตัดสินใจแล้วไปเรียนท่าน ท่านก็เสียใจ แต่ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดี ท่านกลับบอกให้พี่ตั้งใจไปสอบ ให้พรเพื่อสอบให้ได้และ ขอให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป แต่ถ้าเผื่อสอบไม่ได้ก็ไม่ต้องกลัว กลับมาทำงานกับพี่อย่างเดิม แล้วมุ่งมั่นทำงานกันต่อไป ซึ่งอันนี้เป็นกำลังใจสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของพี่ที่รู้สึกว่า การเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดี เมตตาเรื่องที่สำคัญ พี่เลยไปสอบอย่างสบายใจ แล้วพอสอบได้ ท่านยังติดตามความเจริญก้าวหน้าของพี่อยู่เสมอมา

มีหัวหน้าฝ่าย หัวหน้างานของพี่อีกคนหนึ่งชื่อพี่เก่า ท่านคอยสอนพี่ ดูแลพี่ เลี้ยงพี่อย่างดี ที่สภาพัฒน์ ไม่ว่าพี่จะทำงานหนัก แต่อถูกผู้ใหญ่เอ็ดยังไง ท่านจะบอกเหมือนสอนเราว่า ถ้าเกิดเราเป็นผู้ใหญ่ต่อไป เราต้องมีแต่ความเมตตา ลูกน้องเราอาจจะรักไม่ลง ไม่เป็นไร แต่ขอให้มีเมตตา เพราะทุกคนเขาพยายามจะทำความดี ให้อภัยเขา นี่คือหลักการสำคัญของพี่ในการทำงาน

มีคำแนะนำในการฝึกเมตตากับคนในทีมยังไงบ้างครับ

ไม่มีใครจะถูกใจเรา ในทุกวัน ทุกโอกาส แม้กระทั่งบางทีตัวเราเองยังไม่ถูกใจตัวเอง เพราะฉะนั้น น้อง ๆ ที่จะทำงานให้เรา สำหรับพี่ พี่ต้องคิดเสมอว่าเขาเป็นคนดี เป็นคนที่มีความตั้งใจดี การที่เขาทำงานอะไรขึ้นมาแต่ละชิ้น เขามีความตั้งใจ เหมือนกับเราตอนเด็ก ๆ จะทำอะไรแต่ละชิ้น เราทำสุดฝีมือของเราแล้ว ก่อนที่เราจะเสนองานชิ้นนั้นผ่านขึ้นไป เพราะว่าถ้าเผื่อเราเป็นผู้ใหญ่เอง เราก็พร้อมรับผิดชอบที่จะเซ็นหนังสือฉบับนี้ได้

แต่เมื่อมองไปว่าเราเป็นผู้ใหญ่กว่า เรามีประสบการณ์มากกว่า เราได้เรียนรู้อะไรมามากกว่าเขา เราจะเห็นว่า อันนี้ไม่ถูกแต่ เราต้องให้เกียรติเขา สิ่งที่เขาพยายามทำมา เริ่มจากตรงนั้นก่อนว่าเรามีความเมตตาจากสิ่งที่เขาเสนอมา เริ่มเมตตาในตัวเขาก่อน แล้วเราจะทำยังไง เราจะแก้ไขยังไง เราจะแนะนำเขายังไงให้งานออกมาในทางที่ถูกที่ควร หรือในทางที่เราเห็นว่าควรจะเป็นในฐานะที่เราเป็นผู้บังคับบัญชา คิดว่าถ้าทำอย่างนี้ได้ อย่างน้อยพี่ได้ทำความดีอย่างหนึ่งแล้ว

ถ้าเราพยายามเมตตา แต่คนในทีมสะเพร่า ทำผิด หรือไม่ถูกใจตลอด จนปรี๊ดขึ้นมาล่ะครับ?

ภรรยาของพี่พูดอยู่เสมอว่าไม่ว่ายังไง ถ้าเราเกิดปรี๊ดขึ้นมาแปลว่าเรากำลังใช้อารมณ์ เมื่อเราใช้อารมณ์ในการตัดสินใจเมื่อไหร่ เราจะกลับมาเสียใจกับผลที่ตามมาทีหลังเสมอ เพราะฉะนั้น จำไว้ว่า โตขึ้นไป ถ้าจะปรี๊ดให้เดินหนีไป walk away แล้วจะไปปรี๊ดในห้องน้ำหรือที่ไหนก็แล้วแต่

ถ้าเผื่อเราสามารถที่จะรู้ตัวได้เร็ว เราจะแก้สถานการณ์ได้เร็ว แทนที่เราจะโกรธ ใช้อารมณ์ พูดอะไรเสีย ๆ หาย ๆ หรือทำอะไรที่ไม่ถูกไม่ควร ซึ่งจะติดตาติดใจของคนที่เราแสดงออกไปเสมอ หลายครั้งที่เราเห็นคนอื่นที่เขาใช้อารมณ์ปรี๊ดขึ้นมา แล้วเราติดตาว่า นั่นคือภาพของเขา

เพราะฉะนั้น พี่ถึงสอนลูกเหมือนกับที่ผู้ใหญ่สอนพี่ว่า 3 ปีแรกของการเริ่มงานใหม่ คือเป็นช่วงที่เราทำป้ายแกะสลักชื่อของเราแขวนคอ คนเขาจะเห็นเราตั้งแต่แรกยังไง จะเป็นภาพติดตาเขาไปอย่างนั้น ถ้าเราเป็นคนที่สุภาพ เรียบร้อย ขยันขันแข็ง ทำงานได้เรื่องได้ราว เป็นผู้มีความรับผิดชอบ จากนั้นไป ภาพนั้นจะติดตัวเราไปตลอดจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ แต่ในขณะที่ถ้าเกิดเราเป็นคนสํามะเลเทเมา เกกมะเหรกเกเร เขาจะติดตาเราเป็นอย่างนั้น ทั้งที่เราไม่ได้เป็น และไม่มีโอกาสแก้ตัว

เรื่องนี้สำคัญเวลาที่เราเริ่มต้นชีวิตของเรา คือต้องระมัดระวังในช่วงแรก ถ้าเผื่อมีคนที่แนะนำ เราอาจจะมีพ่อแม่ที่คอยตักเตือน มีผู้บังคับบัญชาที่คอยให้คำสั่งสอน มีเพื่อนร่วมงานที่คอยให้คำแนะนำ เวลาสวดมนต์ไหว้พระจะขอให้มีคนดี ๆ อยู่รอบข้าง แล้วคนดี ๆ เหล่านั้นจะส่งเสริมเราเอง

แล้วถ้าบังเอิญโชคร้าย หัวหน้าไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อนร่วมงานก็ไม่ดี ควรจะทำยังไงครับ?

คนดียังไงก็ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ แต่ว่าเราคงไม่ไปว่า ผู้บังคับบัญชาว่าท่านไม่ดี เราเห็นว่าไม่เป็นตัวอย่างที่ดี เราก็ไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่าง แต่ว่าไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องไปบอกว่า “ท่านทำไม่ถูกน่ะครับ ท่านควรจะทำอย่างนี้” คงไม่ดีกับตัวเราเป็นแน่ สิ่งเหล่านี้คือประสบการณ์ที่ผ่านมา

เวลาชาวบ้านทั่วไปดูละครมักจะมีภาพว่า นักการทูตใช้ชีวิตหรูหรา สบาย ทำงานอยู่ต่างประเทศ แต่งตัวสวย-หล่อ ออกงานสังคม อยากทราบว่าเบื้องหลังม่าน งานหลักๆ ของนักการทูตมีอะไรบ้างครับ?

ที่ละครพูดถึงชีวิตสวยหรูก็จริงส่วนหนึ่ง ส่วนที่สำคัญที่เราคิดว่าทำไมเราถึงอยากจะมาทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ เพราะว่าเรารู้สึกว่าเป็นชีวิตที่ดี ดูในละคร นักการทูตหนุ่มนั่งห้องใหญ่โต ไม่เห็นจะต้องทำงานทำการมากมาย ท่องเที่ยวทั้งวัน ภาพลักษณ์ออกมาดี กินข้าวร้อน นอนตื่นสาย ซึ่งในชีวิตจริง ไม่ได้เป็นถึงขนาดนั้น พี่ได้ติดตามคุณพ่อซึ่งไปเป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารที่กรุงมะนิลา ได้เห็นชีวิตนักการทูตส่วนหนึ่งว่ามีอะไร ซึ่งไม่ได้สวยหรูไปเสียทั้งหมด แต่ชีวิตเราจะอยู่ในสังคมที่ดี คือส่วนหนึ่งที่พี่เลือกอาชีพนี้ เพราะไม่ว่าเราจะไปที่ไหนในประเทศใดที่ลำบากยากแค้นสักเพียงใด เราจะอยู่ในสังคมที่ดีที่สุดของเขาเสมอ ชีวิตน่าจะดี น่าจะสนุกกับการทำงานได้

ส่วนในการทำงาน ถ้าเริ่มรับราชการ เราต้องเรียนรู้ ความรู้ที่เรามีมาทั้งหมดต้องนำเอามาใช้ให้มากที่สุด ถ้าเผื่อไม่ได้ภาษา สื่อสารไม่ได้ ก็ไม่ได้แล้ว ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เราอยู่กระทรวงการต่างประเทศไทย ร่างหนังสือภาษาไทยไม่เป็นก็แย่แล้ว

โชคดีที่ตอนเล็ก ๆ ได้อยู่ต่างประเทศกับคุณพ่อคุณแม่ ได้เรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ต้น เป็นพื้นฐานที่ดี ที่จะช่วยทำให้เราผ่านพ้นอุปสรรคอะไรต่าง ๆ มาได้ ตั้งแต่สอบเอ็นทรานซ์ สอบเข้ากระทรวง ต้องใช้ภาษาอังกฤษทั้งนั้น การที่อยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ ทำงานด้านการทูตจำเป็นต้องใช้ จะเขียนหนังสือไปหาใคร จะพูดกับใคร สื่อสารกับใคร

บางทีให้น้อง ๆ ช่วยร่างสปีชให้ไม่ทัน ต้องสามารถพูดได้ เราจะต้องสื่อท่าทีของประเทศไทยด้วยความแยบยล ที่จะไม่ใช่ไปยัดเหยียดให้คนฟังเขารู้สึกว่าเราพยายาม push กับเรื่องประเทศไทยอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ดีเป็นต้น หนังสือบางทีเราต้องเขียนโต้ตอบเอง โดยเฉพาะ social media ถ้าเผื่อเราไม่สามารถมี full command ในภาษาอังกฤษ เราจะไม่สามารถสื่อสารกับใครเขาได้ อีเมลมาเราก็ต้องรีบตอบไป การเขียนจดหมายเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นศิลปะ

นักการทูตมีงานในหลายมิติ อย่างที่บอกทางด้านวิชาการและความเป็น generalist นักการทูตต้องเป็นได้ทั้งนักวิชาการ เพราะว่าต้องเป็นคนที่ใฝ่รู้ เป็น credo อันหนึ่งในกระทรวงการต่างประเทศ เขาถึงให้ร้องเพลงบัวแก้วเวลาที่เข้ากระทรวงการต่างประเทศ ตอนที่เข้ากระทรวงใหม่ ๆ ไม่เข้าใจ ว่าเราร้องไปทำไม แต่ในเพลงเหล่านั้นมีคำสอนอยู่ในเพลง ซึ่งเพลงบัวแก้วมีคำสอนสำคัญสามประการ

ประการแรก “บัวแก้ว เบ่งบาน ในวังสราญรมย์ระรื่นชื่นใจ… แสงแดด แผดเผา แต่บัวไม่เฉา กลับงามสดใส” นั่นหมายความว่านักการทูตต้องเป็นคนที่ทำงานหนัก ถ้าไม่ขยันทำงาน ไม่ทำงานหนัก ก็จะไม่เจริญเก้าหน้า เหมือนบัวที่โดนแสงแดดแผดเผา งานหนักมี pressure แต่ว่าดอกบัวกลับเบ่งบาน

ประการที่สอง “ถึงน้ำจะขุ่น ด้วยเลน ด้วยตม บัวแก้วก็ข่ม ซ่อนขุ่นไว้ข้างใน” คือเราเอาแต่สิ่งดี ๆ ออกไป เอาภาพลักษณ์ที่ดีไปเผยแพร่ สิ่งที่ไม่ดีเราเก็บไว้เอามาแก้ไข หลัก ๆ คืออย่าสาวไส้ให้กากิน เพราะฉะนั้น การต่างประเทศเราไม่สาวไส้ประเทศไทยให้ชาติอื่นเขามาดูถูกเราได้ ในอีกด้านหน่วยงานกระทรวงการต่างประเทศเอง เราจะไม่เขียนบัตรสนเท่ห์ว่าเพื่อนร่วมงาน นี่คือการไม่สาวไส้ให้กากิน

ประการที่สาม “ก้านบัวหยั่งน้ำ รอบรู้คู่ธรรม มุ่งหวัง ชักนำ ชาติเราให้พ้นทุกข์ภัย” ชาวกระทรวงการต่างประเทศต้องเป็นคนที่ใฝ่รู้เหมือนก้านบัวหยั่งลึกลงไปในน้ำ เป็นคนที่แสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ถ้าเผื่อไม่ท่วงทันความรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็จะตกข่าวตกสมัย แล้วไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ลึกซึ้งมากครับ

ใช่ น้อง ๆ รุ่นใหม่ที่เขาเข้ามาถูกให้ร้องเพลง คนบอกให้ร้องก็ไม่รู้ว่า ทำไม เห็นเขาร้องกันมา ซึ่งจริง ๆ แล้ว มีสิ่งที่สอนอยู่ข้างใน อย่างเพลงเชียร์ต่าง ๆ สมมติว่าจบจากจุฬาฯ “น้ำใจน้องพี่สีชมพู” ถ้าเป็นสีชมพูปุ๊บก็รู้สึกว่าเป็นพี่น้องกัน รักกันทันทีใช่ไหม

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สอนหล่อหลอมเราในองค์กร ซึ่งคนในองค์กรของกระทรวงการต่างประเทศก็จะต้องมีลักษณะแบบนี้ คือสนใจที่จะเก็บเกี่ยวรายละเอียด ที่สำคัญคือต้องเป็นคนช่างสังเกต ถ้าเผื่อเราสามารถเก็บเกี่ยวได้ระหว่างทางได้มากเท่าไหร่ จะเป็นประโยชน์กับตัวเราเท่านั้น

ถ้าผมอยากฝึกเป็นคนช่างสังเกต ควรเริ่มจากตรงไหนครับ

พ่อสอนให้รู้จักจำชื่อคน บางทียังจำหน้ายังไม่ได้ แต่จำชื่อได้ คุณพ่อท่านมีความจำที่ดีมาก ตั้งแต่เห็นหน้าคนท่านจะมีเหมือนกับประวัติของเขาขึ้นมาข้าง ๆ เลย ท่านจะสอนวิธีคิดว่า ชื่อของคนเป็นเสียงสวรรค์ของเขา ถ้าเผื่อเราเรียกหนู น้อง ใครก็ได้ไม่รู้ แต่ว่าถ้าเรียกชัช รู้แน่ ๆ ว่าหมายถึงเรา แล้วทำไมพี่ถึงจำชัชได้ในวันแรกที่เจอ แล้วอีกนาน ๆ เข้ามาเจอกันก็ยังเรียกชัช ระลึกถึงว่าได้ทำอะไรร่วมกันมา แล้วนี่คือ สิ่งสำคัญที่ความจำเราช่วยเรา ที่จะทำให้เราเป็นที่รัก เป็นที่คนที่เขาอยากจะคบหาด้วย ในอันดับแรก ต้องมีความจริงใจ

ความจริงใจสามารถบอกได้จากดวงตา แต่ว่าถ้าหากเราอาศัยความจำของเราให้เป็นประโยชน์ เราจำชื่อเขา เราจำเกี่ยวกับครอบครัวเขา เกร็ดที่เกี่ยวกับตัวเขา เขาจะมีความประทับใจใช่ไหม แต่เราจะจำความประทับใจทุกคนที่เราพบเจอได้ไหม เราจะเก็บความประทับใจจากสิ่งที่เราเห็นมาได้หรือเปล่า นั่นคือพ่อสอน สอนให้เราพยายามเก็บเกี่ยวให้ได้

ขอกลับมาที่งานของนักการทูตหน่อย นอกจากคำขวัญจากเนื้อเพลง บัวแก้ว ที่บอกไปแล้ว ปัจจัยสำคัญของงานนักการทูตสำหรับพี่ คือ PAN

PAN?

P คือ Presence คือการที่เราไปปรากฏตามที่ต่าง ๆ เราต้องระลึกเสมอว่าเราเป็นใคร เราเป็นผู้แทนประเทศ เราเป็นผู้แทนพระองค์ ในพระราชสาส์นตราตั้งระบุไว้ชัดว่า “…ขอให้ท่านผู้นำของประเทศที่เราไปประจำ ได้รับรองเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มผู้นี้ด้วยดี และเชื่อถือในการทั้งปวงที่เอกอัครราชทูตผู้นี้จะได้แสดงต่อท่านในนามของเรา” นั่นคือชัดเจน เรามีบทบาทอะไร ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน เราจะต้องตระหนักถึงบทบาทนี้ เพราะฉะนั้น เราควรจะทำตัวให้เหมาะสมเสมอ

แน่นอนเราอาจจะเป็นคนที่ friendly เป็นคนที่มีอัธยาศัยไมตรีที่ดี แต่ว่าเราต้องสำรวมในฐานะที่เราเป็นไทย พี่จะติดดุมเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้เสมอ เหมือนที่พ่อสอนว่านอกจากเป็นความภาคภูมิใจแล้วยังเป็นสิ่งเตือนใจ เตือนว่าเราคือใคร แล้วเราจะไม่ลืมตัว ไม่ว่าเราจะไปอยู่ไหน จะเป็นโรงอาหาร หรือใน UN appearance ของเราคือทูตไทยไปร่วมงานเท่ากับประเทศไทยไปมี presence ในงานนั้น อาทิ งานวันชาติ การไปร่วมกิจกรรมของบ้านเมืองเขา เป็นต้น 

A คือ Action หรือ Activity ต่าง ๆ คือกิจกรรมที่เราต้องทำ อย่างเช่นเมื่อพายุไซโคลนนาร์กีสเข้าที่พม่า จากการที่เดินทางไปในประเทศพม่าก็เห็นว่าภาคอิรวดีของพม่านั้น เป็นพื้นที่ราบลุ่มไม่มีที่หลบภัยของพายุที่รุนแรง สิ่งแรกที่พี่ทำ คือติดต่อกระทรวงการต่างประเทศของไทย รายงานว่ามีเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้น เสนอแนะให้ทางรัฐบาลส่งความช่วยเหลือมา ทั้งข้าวของและเงินสนับสนุนต่าง ๆ แล้วพี่ได้พยายามว่า เมื่อสนามบินที่ย่างกุ้งสามารถเปิดรับเครื่องบินได้ เครื่องบินลำแรกที่ลงคือเครื่องบินของประเทศไทยที่นำความช่วยเหลือมาให้ นั่นคือสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้พม่าได้ตระหนักว่า “ไทยคือมิตรแท้ในยามยามของเขา” 

หรือว่าจะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ดีขึ้น อย่างเช่นมิตรประเทศ 2 ประเทศอยากจะจัดงานวันชาติในวันและเวลาตรงกัน เขาอาจไม่กล้าพูดกัน เราในฐานะที่เป็นมิตรของทั้ง 2 ประเทศ อาจจะช่วยสื่อสารให้ทุกอย่างคลี่คลายลงไปได้ อันนี้คือกิจกรรมง่าย ๆ ที่เราทำได้

หรือตอนเรามาสิงคโปร์ ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีลี กวน ยู ถึงแก่อสัญกรรม สิ่งที่เราทำได้อย่างแรกคือไปต่อคิวเซ็นชื่อไว้อาลัย หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นออกข่าวว่าทูตไทยเป็นเอกอัครราชทูตคนแรกที่มาร่วมแสดงความอาลัยกับสิงคโปร์ เราร่วมเสียใจกับเขา จอหน้าสถานทูตเราเปลี่ยนเป็นจอดำไว้อาลัยเป็นรูปท่านอดีตนายกรัฐมนตรีลี กวน ยู ขึ้นว่าสถานทูตไทยขอร่วมแสดงความเสียใจด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราเรียนมา และอาศัยประสบการณ์ที่เรามี เป็น craft of Diplomacy

N คือ Number คือคนที่เป็นพวกเรา ให้สนับสนุนเรา อันนี้ชัดเจนในแง่ของงานพหุภาคี ในสหประชาชาติ หากเราได้ number อยู่กับเรามากเท่าไหร่ เท่ากับเรามีจำนวนเสียงที่สนับสนุนเรามากเท่านั้น การที่เราลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะรัฐมนตรีความมั่นคง เราก็ไปเน้น members ของสหประชาชาติทั้งหมด นี่คือ number แต่กว่าจะได้ number เราต้องมี presence และมี activity มาก่อน อย่างเช่นงานที่นี่เหมือนกัน พี่ให้ความร่วมมือทำให้ทางบ้านเมืองเขา ทำให้กับคณะทูต ทำให้สังคมที่นี่ก่อน แล้วในที่สุดเขาจะสนับสนุนเราไม่ว่าเราจะทำอะไร เราจะจัดกิจกรรมอะไรเขาจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเสมอ

 

นี่คือ 3 ปัจจัยสำคัญสำหรับนักการทูต อดีตนักการทูตสิงคโปร์ที่เป็นผู้ใหญ่มากในสหประชาชาติ เขามีหลักคิดแบบเดียวกัน เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็น universal สำหรับงานการทูต แต่สำหรับไทยมีมากกว่านั้นเพราะเรามีราชวงศ์ 

สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในงานทางการทูตของเรา คือการรับเสด็จให้สมพระเกียรติ เพราะว่าการเสด็จของพระราชวงศ์ หรือการเยือนระดับสูงของประเทศเป็น pinnacle ของความสัมพันธ์ การที่ได้มีการเยือนระดับผู้นำประเทศ ผู้นำรัฐบาล ใน mission ของเอกอัครราชทูตคนหนึ่ง ถือว่าเป็น achievement ที่ดี เพราะว่าการเยือนระดับสูง ไม่ใช่แค่มาเยือน และไม่ได้เกิดขึ้นได้บ่อยๆ แต่จะนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีเลิศระหว่างกัน ในการเยือนแต่ละครั้ง อาจจะ mark ความสำคัญของการเยือนนั้น เช่น การเยือนอย่างเป็นทางการของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาที่สิงคโปร์ ได้มีการลงนามความตกลงถึง 4 ฉบับ ซึ่งความตกลงเหล่านั้น จะมีผลส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีของประเทศเรา ไปในทิศทางตามความตกลงได้ทำไว้อีกหลายปีในอนาคต หรืออย่างที่โปแลนด์สมัยพี่ ได้มีการเยือนระดับสูง ซึ่งไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเยือนมาก่อน ได้มีการเซ็นความตกลงกัน 6 ฉบับ ซึ่งจะเป็นแม่บทในการดำเนินความสัมพันธ์ที่ดีของไทยกับโปแลนด์ไปอีกยาวนาน

การเยือน การเสด็จฯ เป็นเรื่องสำคัญซึ่งช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดี ยกตัวอย่าง สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนสิงคโปร์หลายครั้ง แต่ละครั้งก็มีความสำคัญ ท่านทรงเป็นองค์ประธานร่วมการประชุมที่ทางฝ่ายสิงคโปร์จัด นอกจากนั้นยังทรงเก็บเกี่ยวความรู้นำกลับไปสอนนักเรียนโรงเรียนนายร้อยที่พระองค์ทรงเป็นอาจารย์อยู่ เพราะฉะนั้น จึงเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งพี่รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสมีส่วนในการกระชับความสัมพันธ์ที่ดีเลิศอยู่แล้วให้ดีขึ้นอีก

นอกจากงานเรื่องเสด็จฯ เรื่องการเยือน งานด้านกิจการคนไทย งานดูแลผลประโยชน์ของคนไทย เป็นงานสำคัญที่นักการทูตทุกคน ต้องพึงตระหนักว่าเรามีหน้าที่ ที่จะดูแล เราคือผู้แทนที่จะต้องดูแลเขา ถ้าหากเขาต้องการความช่วยเหลือ แล้วเขาไม่รู้จะพึ่งพาที่ไหน เขาก็ต้องพึ่งพาจากเราได้ ไม่ว่าเขาจะตกยากยังไง เขาติดต่อเรามา เราต้องไปช่วยเขา เราไปดูแลเขา เพราะเป็นหน้าที่ของเรา หลักคิดง่าย ๆ ในเรื่องนี้ว่าถ้าเป็นญาติพี่น้องเราบ้าง เราจะทำอะไรให้เขา ทำเหมือนกันคิดแค่นั้น

จากที่เคยไปประจำหลายประเทศ ท่านทูตคิดว่าอะไรคือจุดแข็งของคนไทยครับ?

คนไทยเราเป็นคนที่มีจิตใจเอื้ออารี ในโลกนี้ไม่มีใครที่จะมีจิตใจที่เอื้ออารีเท่ากับคนไทยแล้ว เพราะฉะนั้น Thainess หรือ The Land of Smile คือสิ่งที่เป็นความจริง ซึ่งที่ผ่านมาทั่วโลก เราเห็นว่าประเทศที่เราไปประจำ ทำไมไม่คิดอย่างเรา ชาวต่างประเทศที่มาเยือนประเทศไทยเขาเห็นถึงความดีนี้นะ ทุกคนจะชมว่า คนไทยดีเหลือเกิน ช่วยเหลือเขาต่าง ๆ นานา คนไม่ดีก็มี แต่โดยรวมแล้ว ภาพของคนไทย คือเอกลักษณ์สำคัญ คือความเป็นคนไทยของเรา มีวัฒนธรรมที่ดีงาม ความเมตตา ความเป็นมิตร เวลามีแขกมาเยือนเราก็ให้การต้อนรับ

ผมเชื่อว่าจุดแข็งหนึ่งของอาชีพนักการทูต คือ การเจรจา ประนีประนอม เวลาที่ความเห็นไม่ลงรอยกัน อยากให้ท่านทูตแนะนำสำหรับเทคนิค หรือเคล็ดลับง่าย ๆ ที่คนทั่วไปสามารถไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้

หลักคือเราต้องสร้างสัมพันธ์ที่ดีก่อน โดยใช้ P หรือ presence การที่เรามี presence อยู่ตลอดเป็นสิ่งที่สำคัญ อยู่ ๆ สมมติว่าเราต้องการอะไร แล้วเราไม่มีทูตประจำอยู่ จะยกหูโทรศัพท์จากเมืองไทยมาขอเขาทางนี้ ใครไม่รู้ อีกด้านหนึ่ง แต่ในขณะที่ทูตอยู่ในเมืองนี้มี presence อยู่ ไปตีกอล์ฟกับเขาอยู่เรื่อย ร่วมมือกับประเทศเจ้าภาพในทุกเรื่อง ชวนเขามากินข้าวอยู่เป็นประจำ วันนี้จะขออะไรสักอย่างหนึ่ง เขาน่าจะรับฟัง ถึงแม้หลักการเขาอาจจะไม่ได้ แต่เขาต้องเห็นแก่หน้าเราบ้าง

อย่างเราไปร่วมกิจกรรมเขาอยู่เสมอ เหมือนกับโดยธรรมชาติของมนุษย์นะ เหมือนเป็นหนี้เรา เราไปงานวันชาติท่านทูตคนนี้ เวลาถึงงานที่เราจัดบ้างเขาอาจจะคิดว่า “วันนี้ขี้เกียจ แต่ว่าท่านทูตไทยเขามางานวันชาติเรา ไปให้เขาสักหน่อย” เรื่องแบบนี้มีผลเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่บางทีบางประเทศอาจจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ถึงกับแนบแน่น เพราะผลประโยชน์หรืออยู่ห่างไกลกัน แค่ว่าคบหากันได้ เพราะฉะนั้น อันนี้ก็สำคัญ การที่จะอยู่ ๆ ยกโทรศัพท์หากัน อาจจะได้ผลเพียงระดับหนึ่ง แต่ว่าไม่ได้เสมอไป การที่มี presence ติดต่อกันอยู่ จะขออะไรกันได้มากกว่า เพราะฉะนั้น การที่เรา active เท่าไหร่ เราจะมีกิจกรรมกับใครคนอื่นมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งก็จะโยงกลับไปที่ตัว N ในที่สุด เราจะได้พวกสนับสนุนเรามากขึ้นเท่านั้น

ด้วยงานของนักการทูตที่ต้องย้ายไปประจำหลายประเทศ ท่านทูตมีเคล็ดลับอย่างไรในการปรับตัวให้เข้ากับสังคม หรือประเทศใหม่ ไม่เพียงแค่ได้รับการยอมรับ แต่เป็นที่รักของคนร่วมงานที่เราไปอยู่ด้วยครับ

attitude สำคัญ attitude ที่เราเปิดกว้าง แล้วเรารู้สึกว่าเราไม่ได้รังเกียจกับงานใด ทุกงานล้วนมีความสำคัญทั้งนั้น อย่างนาฬิกาจะเดินได้ มีเฟืองอีกตั้งไม่รู้กี่เฟือง แต่เฟืองตัวเล็ก ๆ ตัวหนึ่งเกิดบกพร่อง นาฬิกาก็หยุดเดินเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเราจะเป็นส่วนเล็ก ๆ ในองค์กรใหญ่ แต่เราก็รู้สึกภูมิใจได้ พ่อสอนไว้เสมอว่าเราต้องภูมิใจในสิ่งที่เราทำ เราทำดีที่สุดของเรา เราก็ภูมิใจแล้ว และจะเจริญก้าวหน้าไปเอง แต่ว่าอย่าไปเปรียบเทียบ ถ้าเผื่อคนมี ambition แล้วไปเปรียบเทียบกับคนอื่นว่าทำไมคนอื่นเขาก้าวหน้าไปกว่าเรา ทำไมเราไม่ทันเขา ทำให้เกิดความทุกข์ เพราะฉะนั้น อย่าไปเปรียบเทียบ ทำงานให้ดีที่สุด มีความสุขกับการทำงาน ไม่ดูถูกตัวเอง

คือเรา ambition มีความทะเยอทะยานได้ แต่ว่าไม่ควรไปเปรียบเทียบกับคนอื่น?

เปรียบเทียบได้ แต่ว่าไม่ได้ไปอิจฉาริษยาเขา ที่พ่อสอนคือไม่ให้เปรียบเทียบ เพื่อให้เรามองเห็นคนอื่นที่ได้ดีก็ชื่นชมกับเขา แต่ว่าเราอย่าไปเอามาทำร้ายตัวเองให้เรารู้สึกต่ำต้อย เราจงภูมิใจในสิ่งที่เราทำ ที่เรามีบทบาทอยู่ตรงนี้ ตัวอย่างตอนที่ได้ไปประจำการที่กรุงวอชิงตัน post แรก ท่านทูตท่านให้ความเมตตา ให้เราทำงานการเมือง เรารู้สึกว่ามีความสำคัญ เพราะเราได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มาจากโต๊ะอเมริกา  ต่อมาท่านทูตบอกให้ไปทำงานด้านพิธี ซึ่งตอนนั้นเราไม่เข้าใจรู้สึกว่าถูก downgrade ต้องรับผิดชอบงานที่ไม่สำคัญ

แท้จริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้นเลย ท่านทูตท่านเมตตา ต้องการสอนงานให้เรามีความรู้ความสามารถรอบตัว ท่านเห็นแล้วว่าเราทำเรื่องงานการเมืองได้ดีแล้ว แต่เรายังไม่รู้งานด้านพิธีการซึ่งเป็นหัวใจของงานทางการทูต ถ้าไม่รู้เรื่องพิธีการก็ไม่ใช่นัการทูตมืออาชีพที่แท้จริง พิธีการเป็นเรื่องสำคัญ จะไปเจรจาความเมืองให้สำเร็จ งานด้านพิธีมีบทบาทสำคัญ อาทิ ผู้แทนจากต่างประเทศเดินทางมาเจรจาความเมืองที่สำคัญ เราให้การต้อนรับอย่างไม่สมเกียรติ ด้านพิธีการล้มเหลว เช่น เราจัดที่ให้เขานั่งผิดที่ ทำให้เขารู้สึกต่ำต้อยหรืออับอาบ เขาอาจไม่พอใจและตัดสินใจกลับเลย เขายังไม่ได้มีโอกาสไปถึงโต๊ะเจรจาเลยด้วยซ้ำ นั่นคือสิ่งที่สำคัญ

คำถามสุดท้าย ถ้าสมมติว่าท่านทูตสามารถนั่ง time machine ย้อนเวลากลับไปเจอตัวเองสมัยเรียนจบใหม่ ๆ อยากจะบอกอะไรกับตัวเองครับ

ลำบากเหมือนกันว่าจะบอกตัวเองว่าอย่างไร คงบอกตัวเองว่า ทำมาแค่นี้ดีแล้ว อย่างน้อยที่ผ่านมา เมื่อเรามองกลับไปข้างหลัง ไม่มี regret กับสิ่งที่ผ่านมาและกับในสิ่งที่ได้ทำไป

 

 

 

____________________________________________________________

ถ้าชอบบทสัมภาษณ์นี้ คุณอาจจะสนใจ Monday’s Spark with Chutchapol.com ซึ่งผมคัดไอเดียเจ๋งๆ คำถามสั้นๆ ที่จะช่วยกระตุ้นพลังในการทำงานทุกเช้าวันจันทร์

Click Here to Subscribe